Audiophile 101:Tips how 2 get better sounds

49697280 ml

 

Audiophile 101:Tips how 2 get Better sounds #1 

ทำให้ชุดเสียงดีขึ้นได้อย่างไร #1

การเล่นเครื่องเสียง Hi-end นั้นเป็นความสุขที่ได้ฟังเพลงที่ชื่นชอบด้วยเครื่องเสียงที่มีคุณภาพสูง จึงต้องเล่นอย่างมีหลักการ เพราะความเป็น Hi-end เครื่องเสียงจำต้องแสดงศักยภาพของเสียงให้ดีสมราคา ชื่อชั้น อีกทั้งเครื่องเสียง Hi-end ยังสะท้อนตัวตนและรสนิยมของเจ้าของอีกด้วย วิธีการที่จะช่วยให้เสียงดีนั้นมีอยู่หลากหลายวิธี ในบทความนี้จะแนะนำโดยไล่เรียงตามลำดับความสำคัญที่มีผลมากที่สุดและควรทำก่อนตามลำดับ ดังต่อไปนี้

1.พลังงานไฟฟ้า
พลังงานไฟฟ้า คือ ลมหายใจของเครื่องเสียงก็ว่าได้ น้อยคนที่ทราบว่าคลื่นรบกวนทางไฟฟ้า คลื่นวิทยุ แรงดันไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอ ฯลฯ ทำให้รูปคลื่นของ sine wave 50 Hz มีความผิดเพี้ยนไปจากปกติ ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพเสียงในระดับที่ฟังออกได้ไม่ยาก
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า กระแสไฟฟ้าในบ้านเรานั้นเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC หมายถึงกระแสที่มีขั้วบวกและลบ มีทิศทางไปกลับตลอดช่วงคลื่น ซึ่งมีค่าแรงดันที่ 220V มีรูปคลื่นความถี่เป็น sine wave 50 Hz (50 ลูกคลื่นต่อวินาที) แต่ในความเป็นจริงแล้ว กระแสไฟฟ้าที่ส่งมาจากแหล่งผลิตนั้นมีการปนเปื้อนหรือที่เรียกว่าขยะทางไฟฟ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น ลองมาดูกันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระแสไฟฟ้านั้นมีอะไรบ้าง

  • Normal Mains Power
    แรงดันจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอาจมีแรงดันไม่สม่ำเสมอ ทำให้รูปคลื่น sine wave 50 Hz นั้นผิดเพี้ยนไปจากปกติ
  • Power cut or Outage or Back out
    แรงดันไฟฟ้าหายไปอย่างฉับพลัน หรือไฟดับนั้นเอง
  • Under Voltage
    แรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่าปกติต่อเนื่องนานกว่า 3 วินาที หรือที่เรียกว่า ไฟตก เช่น แทนที่จะมีแรงดัน 220V กับมีแรงดันที่ 190V
  • Sag or Dip
    แรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่าปกติในช่วงเวลาสั้น ๆ น้อยกว่า 3 วินาที
  • Over Voltage
    แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติต่อเนื่องนานกว่า 3 วินาที หรือที่เรียกว่า ไฟเกิน เช่น แทนที่จะมีแรงดัน 220V กับมีแรงดันที่ 240V
  • TOVs (Temporary Over Voltages)
    ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า Swell หรือ surge คือ แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติมากที่มีค่าต่ำกว่า 1000 Volt ในช่วงเวลาสั้น ๆ คือน้อยกว่า 3 วินาที ลงมาจนถึง 1/1000 วินาที ซึงอาจทำให้เกิดความเสียหายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้
  • Transient over Voltage
    ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า spike หรือ surge คือ แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติที่มีค่าสูงกว่า 1000 Volt ขึ้นไป ในช่วงเวลาสั้น ๆ อย่างฉับพลันคือน้อยกว่า 1/1000 - 1 /1,000,000 วินาที เช่น การกระโชกของไฟฟ้าที่ได้รับการเหนี่ยวนำจากจากภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า หรือจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระโชกเกินในปริมาณที่สูงมาก ๆ (มากว่า 6000 Volt) ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำทางไฟฟ้า เข้ามายังสายไฟ AC หรือสายโทรศัพท์ มีผลทำให้รูปคลื่น sine wave 50 Hz ผิดเพี้ยนไปจากปกติ และยังอาจทำให้เกิดความเสียหายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้
  • Radio Frequency Interference
    คือการที่รูปคลื่น sine wave 50 Hz ผิดเพี้ยนไปจากปกติ เนื่องจากถูกรบกวนจากคลื่นวิทยุที่มีความถี่สูงกว่า 3 kHz
  • Harmonic
    การรบกวนทางไฟฟ้าจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่กินกระแสไฟฟ้ามาก ๆ เช่น สว่านไฟฟ้า เครื่องเป่าลม เครื่องดูดฝุ่นที่ใช้กำลังวัตต์สูง ๆ หรืออยู่อาศัยในย่านโรงงานที่มีเครื่องจักรที่ใช้กระแสไฟฟ้ามาก ๆ ทำให้เกิดเหนี่ยวนำทางไฟฟ้า มีผลทำให้รูปคลื่น sine wave 50 Hz ผิดเพี้ยนไปจากปกติได้เช่นกัน

 

sine wave

ภาพประกอบ 1 แรงดันไฟฟ้าที่ 220V มีรูปคลื่นความถี่เป็น sine wave 50 Hz (50 รอบคลื่นต่อวินาที)

 

จากปัญหาของไฟฟ้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีจากอันตรายจากการกระโชกจากฟ้าผ่าหรือหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดซึ่งสามารถทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีปัญหาการรบกวนจากอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึง

คลื่นแม่เหล็ก และคลื่นวิทยุ
EMI คือ สัญญาณรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ EMI (Electro-Magnetic Interference) คือ สัญญาณรบกวนจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือความต่างศักย์ทางไฟฟ้าของอุปกรณ์ที่กินกระแสไฟมาก ๆ
RFI คือ สัญญาณรบกวนความถี่วิทยุต่าง ๆ ที่ปะปนมากับกระแสไฟฟ้า
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้รูปคลื่น sine wave 50 Hz ผิดเพี้ยนไปจากปกติ ซึ่งจะส่งผลกับอุปกรณ์ในระบบเครื่องเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Amplifier ที่มีภาคขยายสัญญาณและภาคจ่ายไฟ เพราะเนื่องจากเสียงนั้นก็มีลักษณะเป็นคลื่นเสียงเช่นเดียวกัน ปัญหาดังกล่าวมักส่งผลกับสัญญาณขาเข้าและภาคจ่ายไฟของ Amplifier และอุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น DAC Network Player เครื่องเล่น CD ฯลฯ ซึ่งถ้าลองเปรียบเทียบ หากให้นักดนตรีไปนั่งเล่นดนตรีริมถนนที่มีมลภาวะต่าง ๆ เข้ามารบกวน กับการไปนั่งเล่นในคอนเสริต์ฮอล์ที่เงียบสงบ คงตอบได้ไม่ยากว่าคุณภาพของดนตรีที่เล่นออกมานั้นต่างกันขนาดไหน

เสียงสวรรค์ไม่ไกลเกินเอื้อม
การแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าให้ถูกจุด ช่วยให้ชุดเครื่องเสียงเดิม ๆ ของเราที่มีอยู่ มีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น จนอาจทำให้คุณแทบไม่อยากเชื่อหูตัวเอง ว่านี่คือเสียงที่ได้ยินจากชุดเครื่องเสียงที่เราฟังอยู่เป็นประจำ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เหมือนมีม่านหมอกมาบดบังไม่ให้ชุดเครื่องเสียงของเราแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคลื่นเสียงมีลักษณะเป็น sine wave เช่นเดียวกับคลื่นของไฟฟ้ากระแสสลับ หากคลื่นไฟฟ้ามีลักษณะที่ผิดเพี้ยนไป ก็จะส่งผลให้การสร้างคลื่นเสียงจากชุดเครื่องเสียงของเราผิดเพี้ยนไปด้วยเช่นกัน แต่บางครั้งก็อาจจะเป็นความผิดเพี้ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพลงที่ฟังยังก็มีความไพเราะอยู่ แต่ลองจัดการกับเรื่องของไฟฟ้าดูสักหน่อยจะพบว่าอะไรที่มันขาดหายไป อาทิรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเสียงต่าง ๆ นั้นกลับพรั่งพรูออกมาอย่าไม่คาดคิด สัญญาณรบกวน (noise) หรือขยะทางไฟฟ้านั้นมีผลทำให้คุณภาพของเสียงในหลายด้าน อาทิเช่น หัวเสียง (Note Impact) ความสะอาดของพื้นเสียง (Purity) รายละเอียด (Details) ความใส (Transparency) รายละเอียด (Details) ความมีตัวตนและตำแหน่งของชิ้นดนตรี (Image and Position) เวทีเสียงและความเป็น 3 มิติ (Sound stage) ให้ขาดหายไปในระดับที่ฟังออกได้ไม่ยากนัก

สายดิน Electrical Ground
ระบบป้องกันไฟฟ้ากระชาก และจัดการกับขยะไฟฟ้า ประโยชน์ของสายดินนั้นมีมากมาย โดยสายไฟจะถูกเชื่อมต่อกับพื้นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้สัมผัสกับแรงดันไฟฟ้าที่เป็นอันตรายในกรณีที่มีกระแสไฟรั่วออกมา และเป็นสื่อนำขยะทางไฟฟ้าที่ถูกกรองออกจาก Load (อุปกรณ์ไฟฟ้า) โดยต้องมีวงจรทางไฟฟ้ากรองเอาขยะทางไฟฟ้าผ่านทางสายดิน ไปสู่พื้นดินซึ่งมีค่าความต้านทาน (impedance) น้อยกว่า 4.5 Ohm (Ω) การติดตั้งสายดินไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันความเสียหายจากฟ้าผ่าได้ทั้งหมดนะครับ เพราะปกติแล้วการเดินสายดินในอาคารที่อยู่อาศัยนั้น มักเป็นแบบ Electrical Ground ซึ้งต้องอาศัยการเดินระบบ Lightning Ground และติดตั้งอุปกรณ์ Sure Protection ที่ป้องกันไฟกระโชกอย่างรุ่นแรงทั้งแบบช่วงสั้น (Transient over Voltage) และช่วงยาว TOVs (Temporary Over Voltages) ต่อรวมอยู่ด้วย แต่เนื่องจากการเดินระบบ Lightning Ground นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมากและนิยมใช้กับอาคารสูง ๆ ที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าราคาแพงที่มีความสำคัญ อาทิเช่น หน่วยงานด้านการสื่อสาร หรือโรงพยาบาล เพราะเนื่องจากต้องติดตั้งสายล่อฟ้าและสายดินลึกลงไปอย่างน้อยถึง 30 เมตรเพื่อให้ความต้านทาน (impedance ) ของสายดินที่ต่ำมาก ๆ คือ น้อยกว่า 0.5 Ohm (Ω) ซึ่งเป็นค่าของ Common Earth ตามหลักการทางไฟฟ้า เพื่อให้กระแสไฟจากการกรรโชกที่เกิดอย่างรุนแรงฉับพลันเดินทางลงไปยังสายดินได้อย่างรวดเร็ว และสลายประจุได้อย่างหมดจด 

S 49201166

AC Power Line Conditoner Extension Cord With Safety Breaker 
ปลั๊กไฟคุณภาพสูงรุ่นใหม่ล่าสุด MRZ รุ่น N-4

อย่างไรก็ดี เราสามารถเชื่อมต่อแท่งกราวขนาดความยาว 3 เมตรเชื่อมต่อด้วยสายไฟลงไปหลาย ๆ แท่งเพื่อให้ได้ค่าความต้านทาน (impedance) ของสายดินที่ต่ำมาก ๆ คือ น้อยกว่า 0.5 Ohm (Ω) ได้เช่นกันครับ ดังนั้นระบบสายดินภายในอาคารส่วนใหญ่ คือแบบ Electrical Ground ซึ่งไม่สามารถป้องกันอันตรายจากฟ้าฝ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนักเนื่องจากการต่อแบบขนาดและค่าความต้านทานยังไม่ต่ำพอ จึงต้องมีอุปกรณ์ประเภท Sure Protection เข้ามาตัดกระแสไฟกระโชกก่อนที่จะเข้าไปทำลาย Load ต่าง ๆ (load คือ อุปกรณ์ไฟฟ้า) ให้ได้รับความเสียหาย ดังนั้นการป้องกันชุดเครื่องเสียงไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการกระโชกทางไฟฟ้า คือการหารางปลั๊กหรืออุปกรณ์ประเภท Sure Protection ที่ทำสำหรับเครื่องเสียง Hi-end โดยเฉพาะ มาต่อพ่วงกับอุปกรณ์เครื่องเสียงสุดโปรดของเราครับ

อย่างไรก็ดีก็อาจจะยังทำให้เกิดปัญหา Ground loop การไหลย้อยกลับของสัญญาณรบกวน ระหว่างอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์กัน เช่น DAC มีศักย์ทางไฟฟ้าต่ำกว่า Amplifier แต่ต้องมาต่อร่วมอยู่ในปลั้กชุดเดียวกัน ดังนั้นปลั๊กกรองไฟที่ดีต้องป้องการสัญญาณรบกวนเหล่านี้ไม่ให้ไหลย้อนกลับเข้าไปกวนกันในระบบได้อย่างเด็ดขาด

 

surge 1

นอกจากนั้นแล้วยังใช้อุปกรณ์ปรับและรักษาแรงดัน หรือปลั๊กกรองไฟ หรือแม่แต่อุปกรณ์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้ปรับหรือกรองกระแสไฟ AC แรงดันไฟฟ้าที่ 220V มีรูปคลื่นความถี่เป็น sine wave 50 Hz ให้คงที่ สะอาดปราศจากคลื่นรบกวน และการเหนี่ยวนำทางไฟฟ้าที่ทำให้รูปคลื่นผิดเพี้ยนไป ส่งผลให้คุณภาพเสียงโดยรวมดีขึ้นไปด้วย เครื่องกรองไฟและอุปกรณ์ปรับและรักษาแรงดันที่ดี จะต้องไม่ไปเปลี่ยนความสมดุลของเสียง (Tonal Balance) คือ ดุลยน้ำเสียงยังคงอยู่เช่นเดิม แต่มีพื้นเสียงที่ใสสะอาด ในช่วงที่เงียบก็เงียบสงัด ในช่วงของการบรรเลงรายละเอียดของเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ จะชัดเจนขึ้น มิติเวทีเสียงกว้างและลึกมากขึ้น ตำแหน่งของดนตรีนั้นมีตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น ส่วนในเรื่องของการอั้นกระแสไฟ หรือการหน่วงที่เกิดจากกรอง หรือวงจรของอุปกรณ์ปรับแรงดันจนทำให้ ไดนามิค นั้นหดขาดหายไป ซึ่งคงต้องลองพิจารณาหาข้อมูล และการทดลองฟังด้วยตัวเอง เพราะเครื่องกรองไฟ และเครื่องปรับแรงดันแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ แต่ละระดับราคา นั้นแตกต่างกันอย่างแน่นอนครับ เครื่องกรองไฟดี ๆ จะไม่มีการอั้นหรือหน่วงในระดับที่หูของมนุษย์จะสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จาก ความหนักเบาของเสียง (Dynamic Contrast) และความหนักเบาของเสียงอย่างฉับพลัน (Dynamic Transient) นอกจากนั้นแล้วอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีการแจ้งเตือนว่าต่อไฟถูกเฟส หรือว่าสลับเฟส ซึ่งมีส่วนต่อคุณภาพเสียงอย่างมาก

Filter 1

stabilizer

สำหรับการลงทุนกับอุปกรณ์เสริมประเภทปรับและรักษาแรงดันไฟฟ้า (Power Conditioner) หรือ (Voltage Regulator/ stabilizer) หรือปลั๊กรางกรองไฟ (power outlet) หรือแม่แต่อุปกรณ์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ (Power source) นั้นถือว่าคุมค่าและเห็นผลชัดเจนมากที่สุดและควรเป็นสิ่งแรกที่ควรจะต้องจัดการก่อนที่จะไปเล่นอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ

 

"อุปกรณ์เสริมประเภทปรับและรักษาแรงดันไฟฟ้านั้นถือว่าคุมค่าและเห็นผลชัดเจนมากที่สุดและควรเป็นสิ่งแรกที่ควรจะต้องจัดการก่อน"

kef reference 1r

2.ขาตั้งลำโพง Speaker Stand
ลำโพงนั้นถูกออกแบบเป็น Active Device หมายความว่าลำโพงนั้นรับพลังงานมาในรูปแบบของกระแสสัญญาณจากภาคขยาย (Amplifier) แล้วเปลี่ยนรูปแบบพลังงานดังกล่าวมาเป็นคลื่นเสียงจากการขยับตัวกรวยลำโพง (Driver) ด้วยการสร้างคลื่นความถี่เสียงต่าง ๆ ออกมาให้เกิดเป็นเสียงดนตรี ลำโพงนั้นถูกออกแบบให้ยึดติดกับตัวตู้ลำโพง ดังนั้นการขยับของลำโพงทำให้มีคลื่นสั่นค้างบางส่วนถ่ายเทไปยังตู้ลำโพง ดังนั้นในกรณีที่เป็นลำโพงวางขาตั้งจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนเหล่านั้นลงไปสู่พื้นห้องแล้วสลายตัวไป เพื่อให้เกิดความนิ่งและเสถียรกับลำโพง ไม่ให้แรงสั่นสะเทือนเหล่านั้นย้อนกลับไปรบกวนการขยับของลำโพงอีก เปรียบได้กับวง Orchestra ที่นักดนตรีบรรเลงเพลงบนเวทีที่มั่นคงนิ่งสนิท กับนักดนตรีที่เล่นบนเวทีที่มันมีแรงสั่นสะเทือนโคลงเคลงอยู่ใต้เท้า ลองจินตนาการดูว่าเสียงเพลงที่บรรเลงออกมานั้น แบบไหนที่มันจะมีคุณภาพไพเราะน่าฟังกว่ากัน หลายคนคิดว่ามันอาจจะยังไม่น่าจะมีผลมากมายขนาดที่จะลดทอนคุณภาพเสียงได้ขนาดนั้น แถมราคาของขาตั้งลำโพงดี ๆ ก็ไม่ถูก แบบนี้แล้วก็ไม่อยากจะควักกระเป๋าเพราะคิดว่ามันไม่จำเป็น แต่นั้นเป็นความคิดที่ผิดถนัด!

การใช้ขาตั้งสำหรับลำโพงวางขาตั้งดีอย่างไร
ผมขอยกตัวอย่างในกรณีการใช้ขาตั้งลำโพงกับลำโพงแนว Bright Tone ที่ให้ลักษณะเสียงที่สดใส มีรายละเอียด ดังที่ได้กล่าวไว้ เมื่อขาตั้งช่วยสลายแรงสั่นสะเทือน ตู้ลำโพงจะมีความนิ่งมากขึ้น ช่วยให้การถ่ายทอดคลื่นความถี่เสียงเป็นไปได้อย่างถูกต้องและเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น สิ่งแรกที่อยากจะกล่าวถึง คือ เสียงเบสหรือคลื่นความถี่ต่ำจะมีตัวตนและมีความสะอาดชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนส่วนใหญ่มาจากการสร้างคลื่นความถี่ต่ำของดอกลำโพง การวางลำโพงบนขาตั้งที่เหมาะสมจะช่วยสลายแรงสั่นจากตู้ลำโพงลงไปสู่พื้น ช่วยให้การตอบสนองการสร้างเสียงเบสของลำโพงดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และช่วยให้เรารับรู้คุณภาพเสียงต่าง ๆ อาทิ ทำให้เราสามารถรับฟังรายละเอียด (Details) ของเสียงดนตรีได้ดียิ่งขึ้น สามารถรับรู้ความความมีตัวตนและตำแหน่งของดนตรี (Image and Position) ได้อย่าชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยให้เวทีเสียงและความเป็น 3 มิติ (Sound stage) ดียิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีผลกับความใส (Transparency) และความกังวาน (Harmonic) อีกด้วย

hi fi racks podium t5 epicon stand

ความแตกต่างของเสียงที่ได้จากขาตั้งลำโพงที่ทำจากไม้กับโลหะ
ขาตั้งที่ทำมาจากไม้เป็นวัสดุในยุคเริ่มต้นเนื่องจากเป็นการทดลองทำ ไม้จึงเป็นวัสดุที่นำมาทำได้ง่ายในช่วงแรก ประกอบชิ้นงานด้วยกาว การขันน้อต และการเข้าลิ่ม จนในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการผลิตให้ดูทันสมัยและมีเทคนิคการประกอบที่ดีสวยงามเนียนตามากยิ่งขึ้น ลักษณะของเสียงที่ได้จากขาตั้งลำโพงไม้ เสียงจะมีความนุ่มเนียน เพราะเนื่องจากมวลของไม้นั้นมีความยืดหยุ่นมากกว่าโลหะ สามารถซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า แต่ทว่าความสั่นนั้นถูกถ่ายเทลงพื้นได้น้อยกว่าขาตั้งที่ทำจากโลหะ จึงทำให้เสียงที่ได้ ลดความคมชัด ลดความสดใส ลดทอนความมีตัวตนตำแหน่งของดนตรีลงไปเล็กน้อย หากเทียบกับขาโลหะ ส่วนเสียงเบสที่ได้ก็มีน้ำหนักและความสะอาดชัดเจนได้ไม่เท่ากับขาตั้งที่ทำจากโลหะ สรุปว่าขาตั้งที่ทำจากไม้นั้นจะเกลี่ยเสียงให้กลมกลึงฟังแล้วอบอุ่น ฟังสบาย ในขณะที่ขาตั้งลำโพงที่ทำจากโลหะนั้นจะให้เสียงในลักษณะที่เปิดมากกว่า มีความสดใสและรายละเอียดของเสียงต่าง ๆ ชัดเจน ช่วยให้การรับฟังเสียงของตำแหน่งดนตรีและมิติเวทีเสียงรับรู้ได้ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีการนำวัสดุทั้งโลหะและไม้มาประกอบกันเป็นขาตั้งเพื่อให้ได้ข้อดีจากคุณสมบัติทั้งสองชนิดอีกด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากคุณลักษณะจากที่ได้กล่าวมาแล้ว นักเล่นเครื่องเสียงสามารถนำไปประยุตใช้เพื่อการปรับแต่งเสียงของลำโพงได้ด้วย อาทิ หากลำโพงวางขาตั้งมีความสดชัดจนเกินไปอาจลองเลือกขาตั้งลำโพงที่ทำด้วยไม้ดู ก็น่าจะช่วยลดทอนความสดชัดของเสียงลงได้จากที่เคยฟังแล้วรู้สึกรำคาญอาจกลับกลายฟังแล้วพอดีถูกจริตหูขึ้นมาก็เป็นได้

จำนวนเสาแตกต่างกันของขาตั้งลำโพง
หลายคนคงสงสัยว่าจำนวนของเสาของขาตั้งนั้นมันจะมีผลกับเสียงหรือไม่อย่างไร คำตอบก็คือว่ามีครับและชัดเจนพอสมควรเลยที่เดียว 

 

SFSBP

ขาตั้ง 1 เสา คือ ขาตั้งที่มีเสาอยู่ตรงกลางเสาเดี่ยว ส่วนใหญ่จะมีลักษณะโค้งมนกลมกลึงมากกว่าแบบสี่เหลี่ยม และมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าขาตั้งที่มีหลายเสา ซึ่งขาตั้งแบบนี้มักจะตอบสนองต่อเสียงเบสได้ชัดเจน มีจังหวะจะโค่นที่คึกคัก เสียงกลางแหลมจะสดใส เรียกว่าเน้นไปในทางความใส และกระฉับกระเฉง


 

twin pole

ขาตั้ง 2 เสา มีตำแหน่งการวางคล้าย ๆ กับเสาเดี่ยวคือ ยังอยู่ตรงกลางของแท่นรองลำโพงโดยเสาแบบนี้จะให้เสียงที่ได้คล้ายกับขาตั้งแบบเสาเดี่ยว


 

79 Stand

ขาตั้ง 3 เสา คือ ขาตั้งที่มีเสาอยู่ด้านหน้า 2 เสา และมีอีก 2 เสาอยู่ด้านหลังซึ่งการออกแบบให้มีลักษณะดังกล่าวนั้นมักเหมาะกับการนำไปใช้รวมกับตู้ลำโพงที่มีลักษณะเป็นทรงหยดน้ำที่มีความโค้งมนสอบเข้าไปยังด้านหลังของลำโพง เพื่อให้การถ่ายเทการรับน้ำหนักและแรงสั่นสะเทือนเป็นไปตามลักษณะของตัวตู้ลำโพง ลักษณะของเสียงจะเน้นไปทางมิติเวทีเสียง


 

atacama

 

ขาตั้ง 4-6 เสา ด้วยจำนวนที่มากขึ้นของเสา ถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายเทแรงสั่นได้มากยิ่งขึ้น กระจายแรงสั่นได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากมวลของขาตั้งที่มีมากขึ้นตามจำนวนเสานั้นเอง เสียงที่ได้จากการที่มีจำนวนเสามากขึ้นนั้นทำให้เพิ่มเนื้อเสียงให้กับเสียงที่ออกมาจากลำโพง ช่วยให้เบสมีความเข้มข้นมากขึ้น ตู้ลำโพงนิ่งมากขึ้น มิติเวทีเสียง ตำแหน่งของชิ้นดนตรีก็ดีขึ้นกว่าขาตั้งที่มีจำนวนเสาน้อยกว่า แต่จำนวนเสายิ่งมากก็อาจยิ่งไปลดทอนการทอดกังวานของเสียงแหลมให้เก็บตัวเร็วขึ้น ซึ่งก็ต้องพิจารณาถึงสิ่งที่ได้มากับสิ่งที่เสียไปว่าท่านชอบอย่างไหนมากกว่ากัน อีกทั้งลักษณะแนวดนตรีที่ฟังด้วย 

การเลือกขาตั้งลำโพง
หากพิจารณาให้ดีขาตั้งลำโพงนั้นไม่ใช่อุปกรณ์เสริม แต่จัดว่าเป็นอุปกรณ์หลัก เพราะหากลำโพงไม่ได้ถูกวางบนขาตั้งแล้วจะลดทอนคุณภาพเสียงที่แท้จริงของลำโพงลงไปอย่างมาก ข้อแนะนำแรกคือการเลือกซื้อขาตั้งลำโพงนั้น ควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานและความหน้าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าขาตั้งลำโพงแถวบ้านหม้อ เพราะเสียงที่ได้นั้นผิดกันลิบลับ ราคาขาตั้งลำโพงดี ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4,000 – 30,000 บาท ซึ่งราคาที่ต่างกันนั้น มาจากเทคนิคการผลิต วัสดุและเนื้อโลหะของขาตั้ง ลำโพงบางรุ่นทางผู้ผลิตก็ออกแบบขาตั้งมาเฉพาะเจาะจงกับลำโพง ซึ่งก็เป็นการ matching ขาตั้งกับลำโพงที่น่าจะลงตัวดี

q acoustics concept 300 q acoustics 300 stands

ขาตั้งแบบ Point 2 Point Bracing™ ของ Q Acoustics Concept 300


มวลของขาตั้งลำโพง

ความหนาแน่นของมวลวัสดุที่นำมาทำขาตั้งหากเป็นขาตั้งโลหะ ให้สังเกตจากความหนาของโลหะ โดยการใช้นิ้วดีดที่แกนกลางของเสาดู หากเสียงที่ดังออกมามีความโปร่งก้องกังวาน (Ringing Effect) แสดงว่า ความหนาแน่นของมวลวัสดุมีน้อยหรือจะบอกว่าเนื้อโลหะมันบางก็ได้ แต่ถ้าเสียงที่ได้มีความทึบไม่ทอดกังวานแสดงว่าความหนาแน่นของมวลวัสดุนั้นมีมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีในการสลายแรงสั่นจากลำโพได้ดี โดยส่วนมากน้ำหนักของขาตั้งที่ดีจะอยู่ที่ข้างละไม่น้อยกว่า 7 กก. (สูง 24 นิ้ว) หรือควรจะมากกว่านั้น หากขาตั้งมีความสูงมากขึ้น ความสูงของขาตั้งลำโพง โดยส่วนมากแล้วอยู่ที่ 22 นิ้ว ถึง 26 นิ้ว โดยยึดเอาระดับหูในการฟังเป็นหลัก ส่วนขาตั้งที่มีความสูง 29 นิ้ว เป็นขาตั้งสำหรับลำโพง Surround ในการชมภาพยนตร์ที่ต้องการให้อยู่สูงกว่าหูเล็กน้อยเพื่อการสร้างมิติเสียง

เดือยแหลม (Spike)
หลายคนคงเคยสังเกตเห็นว่าใต้ฐานของขาตั้งลำโพงและลำโพงตั้งพื้นนั้นมีเดือยแหลมติดตั้งอยู่มุมทั้ง 4 มุม ในลักษณะวางจิกลงพื้น เดือยแหลม (Spike) มีหน้าที่และช่วยให้เสียงดีขึ้นจากหลักการเดียวกันกับขาตั้งลำโพง คือช่วยถ่ายเทแรงสั่นสะเทือนจากลำโพงในทางเดียวกันจำต้องมีเดือยแหลม (Spike) เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดแรงสั่นสะเทือนจากขาตั้งลำโพงลงสู่พื้นอีกที่หนึ่ง แล้วเสียงที่ได้จากการใส่เดือยแหลมหรือไม่ใส่นั้นต่างกันอย่างไร การใส่เดือยแหลมนั้นช่วยให้เห็นตำแหน่งดนตรีที่ชัดเจนกว่าการไม่ใส่ และทำให้มิติเวทีเสียงเสียงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในทางตรงกันข้ามหากไม่ใส่เดือยแหลม (Spike) ก็จะลดทอนคุณภาพเสียงตามที่กล่าวมา เสียงเบสมันมีเนื้อเสียงมากขึ้น แต่เป็นเสียงเบสที่ขาดความสะอาดชัดเจน เป็นแต่เพียงปริมาณเสียงเบสที่แผ่ออกมากว้าง ๆ แต่ขาดคุณภาพ แถมยังไปลดทอนรายละเอียดของเสียงในด้านอื่น ๆ ให้ด้อยลงไปอีกด้วย

มีข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับใช้เดือยแหลม (Spike) นั้นต้องคำนึงถึงลักษณะพื้นผิวว่าเป็นวัสดุเรียบแข็ง อาทิ หินอ่อน เซรามิค หรือว่าเป็นวัสดุที่สามารถซับการสะเทือนได้บ้างอย่างเช่น ไม้ หรือพรมปูพื้น หากจำเป็นต้องวางบนพื้นเรียบแข็งแนะนำให้ใช้ร่วมกับที่รองเดือย (Floor Spike Shoes)ที่ทำจากยางหรือวัสดุอย่างอื่นที่มีมาให้ หากไม่มีสามารถ DIY ได้โดยการใช้แผ่นกระดาษอัดหนาสัก 3 mm.นำมาติดกาวซ้อนกันสองชั้น หรือแผ่นไม้เนื้ออ่อนหนาสัก 5 mm. ขึ้นไปมารองที่พื้นใต้ขาตั้งลำโพง ที่ใส่เดือยแหลม (Spike) ที่แนะนำให้ทำเช่นนี้ก็เพื่อช่วยดูซับแรงสั่นสะเทือนไม่ให้กลับไปยังขาตั้งลำโพง และยังช่วยให้พื้นไม่เป็นรอยขีดข่วนจากการขยับลำโพงเพื่อปรับแต่งเวทีเสียง แถมยังช่วยให้การเลื่อนลำโพงได้สะดวกอีกด้วย

spk sonus

 

Isolate Gel คือ แท่นรองที่อยู่ระหว่างลำโพงกับแท่นของขาตั้งมีลักษณะคล้ายตุ่มยางขนาดเล็ก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับ เดือยแหลม (Spike) คือช่วยป้องกันไม่ให้แรงสั่นสะเทือนนั้นกลับไปยังตู้ลำโพง Isolate Gel นี้มักมีมาให้กับขาตั้งในบางรุ่นบางยี่ห้อ สิ่งที่ได้จากการใช้ก็คือเพิ่มความนิ่งให้กับตู้ลำโพงและลดแรงสั่นระหว่างลำโพงกับแท่นรองลำโพง

isolate Gel atacama sl400

วัสดุสำหรับกรอกขาตั้งลำโพง
ผงโลหะ ทราย และหินภูเขาไฟบดละเอียด สำหรับกรอกลงไปในเสาขาตั้งลำโพง อย่าเพิ่งเบื่อนะครับว่าทำไมมันเยอะหลายขั้นตอนขนาดนี้ อันนี้ถือว่าสุดท้ายแล้วครับสำหรับเรื่องของขาตั้งลำโพง แล้วสิ่งเหล่านี้ใช้เพื่ออะไร หากพิจารณาดูให้ดีเราจะพบว่าขาตั้งลำโพงถูกออกแบบให้กลวงเพื่อสำหรับกรอกวัตถุเหล่านี้ลงไปเพื่อลดการก้องกังวาน (Ringing Effect) จากขาตั้งลำโพง เพื่อให้นิ่งสนิทและเงียบสงัด มีข้อแนะนำสำหรับการกรอกวัตถุเหล่านี้เข้าไปในเสาก็คือควรหาถ้วยตวงและคำนวณปริมาตรความจุภายในเสาแต่ละเสา โดยการหาเส้นรอบวงคูณด้วยความสูงของเสาแล้วตวงวัตถุที่เตรียมไว้ไม่ว่าจะเป็น ทราย ผงโลหะ และหินภูเขาไฟบดละเอียด เนื่องจากวัตถุเหล่านี้มีคุณสมบัติในการอัดตัวกันแน่นและสามารถกักเก็บสลายแรงสั่นสะเทือนได้ชะงัดนักแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายิ่งใส่ยิ่งดีนะครับ แนะนำให้กรอกลงไปครั้งแรกเพียงแค่ (25%) ของปริมาตรความจุก่อนแล้วลองฟังดูว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางใด หากรู้สึกว่าเบสดีขึ้น กลางแหลมยังทอดกังวานปกติ อาจลองกรอกเพิ่มลงไปอีกครั้งละ 5% จนได้เสียงเบสที่มีคุณภาพดีที่สุดโดยไม่ส่งผลเสียกับย่านเสียงกลางและแหลม ในกรณีที่กรอกเพิ่มแล้วเสียงเบสทึบ เสียงกลางแหลมการทอดเสียงเก็บตัวเร็วเกินไป ก็อาจจะลดปริมาณวัตถุที่ใส่ออกที่ละ 5% แล้วลองฟังจนกว่าจะได้เสียงที่พอใจ แต่ถ้าหากเบสดีขึ้นแล้ว เสียงกลางแหลมยังคงฟังได้ดีอยู่ก็ถือว่าได้ปริมาณที่เหมาะสม ได้ดุลน้ำเสียงที่ลงตัว

sand

เอาละครับอาจจะยาวซักหน่อยแต่หวังว่า ผู้อ่านคงจะได้รับประโยชน์ และหายสงสัยเกี่ยวกับขาตั้งลำโพงและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ โดยสรุปแล้ว ขาตั้งลำโพง (Speaker Stand) เดือยแหลม (Spike) และที่รองเดือย (Floor Spike Shoes) Isolate Gel และ วัสดุสำหรับกรอกขาตั้งลำโพงมีหน้าที่สลายแรงสั่นสะเทือนออกจากตู้ลำโพงเพื่อให้ได้คุณภาพของเสียงที่ดีที่สุดนั้นเอง . . . โปรดติดตามอ่านทำให้ชุดเสียงดีขึ้นได้อย่างไรตอนที่สอง

 

0121162351

 บทความ โดย A.Raphael

 update 7/08/2020