Audiophile 101:Amplifier
จากบทความตอนที่ 1 ที่ได้แนะนำให้ตัดสินใจเลือกลำโพงก่อนเป็นอันดับแรก ว่าท่านชอบฟังเสียงในลักษณะไหน ซึ่งแบ่งเสียงลำโพงออกเป็น 3 แนว ได้แก่ Bright tone สว่างสดใส มีรายละเอียด Dark tone อึมครึมฟังสบายหู Studio Monitor ลำโพงอ้างอิงรายงานทุกรายละเอียดจากการบันทึก
เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ต่อมาก็คือการเลือกแอมป์ ซึ่งแอมป์แต่ละประเภท แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อต่างก็มีบุคลิกเสียงแตกต่างกันออกไป การตัดสินใจเลือกซื้อแอมป์สักเครื่องหนึ่งเราควรมีความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานการเล่นเครื่องเสียงที่ถูกต้องและช่วยให้การตัดสินใจจับคู่กับลำโพงให้ได้เสียงที่ถูกต้องและถูกใจตามรสนิยมส่วนตัว
ผมจะลองยกตัวอย่างจากรสนิยมการฟังเพลงส่วนตัว เพื่อเป็นแนวทางในการจัดชุดเครื่องเสียงสำหรับมือใหม่ ผมชอบฟังเสียงที่มีส่วนผสมที่หนักไปทาง Bright tone สว่างสดใส มีรายละเอียด เจือด้วยความเป็นกลางตรงไปตรงมาแบบ Studio Monitor แต่ยังคงฟังสบายเสียงไม่จัดมากจนเกินไป และมีเนื้อเสียงไม่แห้งบาง ซึ่งการเลือกลำโพงนักเล่นเครื่องเสียงจำเป็นต้องหาโอกาสไปฟังด้วยตนเอง หากมีแอมป์ที่ให้เสียงเป็นกลางตรงไปตรงมาก็ควรที่จะนำแอมป์ไปลองกับลำโพง โดยควรติดต่อกับทางร้านเสียก่อนว่าสะดวกหรือไม่ อย่าลืมว่าควรจะเลือกลำโพงก่อน แล้วจึงเลือกแอมป์และเครื่องเล่นเพลงที่เป็นกลาง จะทำให้เราคาดเดาเสียงที่ออกมาได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่อจ่ายเงินซื้อมาแล้วคาดเดาผลลัพธ์ยากก็อาจจะรู้สึกเสียดายหากได้แนวเสียงไม่ถูกรสนิยม จนต้องขายออกไปเป็นสินค้ามือสอง แล้วตามหาสิ่งที่ชอบต่อไปเรื่อย ๆ จนหาบทสรุปไม่เจอ
เมื่อได้อุปกรณ์หลักทั้ง 3 อย่างจึงค่อย ๆ ปรับแต่งเสียงด้วยสายไฟ สายสัญญาณ สายลำโพง รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ซึ่งก็อาจจะช่วยเติมเต็มได้อยู่พอประมาณ แต่ส่วนสำคัญจะอยู่ที่อุปกรณ์หลักทั้ง 3 โดยเฉพาะลำโพง จากตัวอย่างที่ผมยกมา ผู้อ่านอาจมีรสนิยมต่างออกไป บางท่านเน้น Dark tone อึมครึมฟังสบายหู ก็แนะนำว่าแอมป์หลอดน่าจะเป็นคู่แท้ของท่าน หรือหากท่านชอบแบบ Studio Monitor ลำโพงอ้างอิงรายงานทุกรายละเอียดจากการบันทึก ก็น่าจะจับคู่กับแอมป์ ทรานซิสเตอร์ (transistor) ที่มีความเป็นกลาง เป็นต้น
ก่อนอื่นผมอยากให้เข้าใจหลักการทำงานของ Amplifier พอสังเขป เพื่อสร้างพื้นฐานการเล่นเครื่องเสียงอย่างถูกต้อง
Amplifier ภาคขยาย
Amplifier คือ วงจรขยายสัญญาณ (Electronic Amplifier or Amplifier) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Amp เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายสัญญาณ โดยการใช้พลังงานจากแหล่งจ่ายไฟภายในตัวเครื่อง เมื่อรับสัญญาณไฟฟ้าจากภาคสัญญาณเข้า Input แล้วนำไปขยายสัญญาณให้มีความแรงขึ้นตามการเรียกกระแสจากกรวยลำโพงหรือสัญญาณออก Output สำหรับเครื่องเสียงระดับ Hi-end นั้น Amplifier ไม่ได้แต่เพียงทำหน้าที่ขยายเสียงเท่านั้น แต่ยังต้องขยายสัญญาณให้บริสุทธิ์มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อถ่ายทอดสัญญาณเสียงให้เหมือนกับที่ถูกบันทึกมาจากห้องบันทึกเสียง ส่วนประกอบของ Amplifier หรือระบบขยายเสียง แบ่งได้เป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ
ภาครับสัญญาณ (Input Signal) ภาครับสัญญาณส่วนใหญ่มีขั้วต่อแบบ RCA (Unbalance) หรือ แบบ Balance ซึ่งแตกต่างกันออกไป Input ของเครื่องขยายเสียงทำหน้าที่รับสัญญาณจากอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อ อาทิ เครื่องเล่น CD, Tuner, Aux, Dac, Network player และ Phono สำหรับ Turntable ซึ่งก็ควรต่อให้ถูกช่อง คือ ช่อง Input ของ CD, Tuner, Aux เป็นช่องที่รับสัญญาณแรงดันสูง ส่วนช่อง Phono เป็นช่องรับสัญญาณแรงดันต่ำจาก Turntable หากต่อผิดอาจได้เสียงที่ผิดเพี้ยนหรือสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ได้ แต่เครื่องบางรุ่นจะมีช่องต่อที่สามารถต่อแล้วได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องตรงช่องเสมอไป
ภาคขยายสัญญาณ (Pre / Amplifier) หรือภาคปรีแอมป์ทำหน้าที่รับสัญญาณเข้า ทำการกำจัดสัญญาณรบกวน และปรับระดับความแรงของสัญญาณให้ถูกต้อง ด้วยปุ่ม Volume ปรับเพิ่มหรือลดความดัง ก่อนที่จะส่งไปยังภาคขยายนอกจากนี้ อาจมีวงจรปรับเสียง Tone control รวมอยู่ด้วย โดยมีปุ่มปรับเสียงทุ้ม (bass) เสียงกลาง (midrange) และเสียงแหลม (treble) มาให้ด้วย พร้อมกับการส่งสัญญาณแบบ Bypass หรือ Pure Direct การรับส่งสัญญาณโดยไม่ปรับแต่งเสียงแต่อย่างได้
ภาคสัญญาณออก (Output Signal) เพาเวอร์แอมป์ (Power Amplifier) จัดว่าเป็นภาค Output มีคุณสมบัติตอบสนองต่อสัญญาณ สามารถใช้งานกับโหลดที่มีความต้านทานต่ำหรือสามารถจ่ายกระแสได้สูงและต่อเนื่อง และมีความเพี้ยนต่ำ (Harmonic distortion)
Amplifier นั้นสามารถแบ่งได้หลายแบบ อาทิ แบ่งตามวัสดุที่ใช้ทำภาคขยายเสียง (หลอดสุญญากาศ/ ทรานซิสเตอร์ / ผสม) แบ่งตามลักษณะการจัดภาคขยาย (Integrated / Pre Amplifier Power Amplifier) แบ่งตามลักษณะการจัดวงจรขยาย (class A, class B, class AB, class D, class T) ในทางการตลาดเครื่องเสียงนั้นได้แบ่ง Amplifier ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ซึ่งต่างก็มีบุคลิกเสียงและจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้
Integrated Amplifier
คือการรวมเอาภาคการปรับแต่งสัญญาณ Pre และภาคขยาย Power Amplifier มารวมไว้ในเครื่องเดียวกัน ข้อดี คือ ราคาไม่สูงมาก ประหยัดเนื้อทีในการจัดวาง ไม่เปลื้องสายสัญญาณในการเชื่อมต่อ ให้คุณภาพเสียงที่ดีในการขับลำโพงขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ข้อด้อย คือ อาจมีสัญญาณรบกวนภายในเครื่องบ้าง เนื่องจากการวางแผงวงจรต่าง ๆ อยู่ภายในตัวเครื่องเดียวกัน และการระบายความร้อนก็ทำได้ไม่ดีเท่ากับการแยกภาคเครื่องขยายกำลังสัญญาณ Pre Amplifier ออกจากภาคขยาย Power Amplifier
Pre Amplifier และ Power Amplifier
Pre Amplifier คือภาคขยายกำลังสัญญาณและการปรับแต่งสัญญาณ และภาคขยาย Power Amplifier แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีข้อดี คือ ลดการรบกวนสัญญาณไฟฟ้าจากภายในเครื่อง อาทิ สัญญาณรบกวนจากภาคขยายสัญญาณ ซึ่งมาจากหม้อแปลง (Amplifier Noise) และสัญญาณรบกวนที่เกิดจากอุปกรณ์ทางอิเล็กโทรนิกส์ (Shot Noise) ซึ่งได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า Integrated Amplifier เนื่องจากมีพื้นที่การวางแผงวงจรต่าง ๆ ให้ห่างกันมากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยให้การระบายความร้อนทำได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อพิจารณา คือ ทำให้เครื่องมีราคาสูงมากขึ้น และการใช้สายสัญญาณในการเชื่อมต่อที่ต้องเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชุด ทำให้งบประมาณการเล่นเครื่องเสียงมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าแน่นอน นักเล่นส่วนใหญ่มักจะมาถึงจุดที่ต้องเล่นแยกชิ้น Pre Amplifier กับ Power Amplifier
Power Amplifier ทำหน้าที่รับสัญญาณจากปรีแอมป์ แล้วนำสัญญาณมาขยายเพื่อส่งไปยังกรวยลำโพง เมื่อกระแสออกจากหม้อแปลงแล้วจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นไฟกระแสตรง (DC) เพื่อป้อนกระแสไฟให้เพียงพออย่างต่อเนื่อง ทำให้เครื่องขยายเสียงทำงานร่วมกับลำโพงได้อย่างราบรื่นไม่ผิดเพี้ยน กระแสไฟจะต้องปล่อยแรงดันที่แม่นยำและฉับพลัน มีสัญญาณรบกวนต่ำ และยังต้องมีกระแสไฟมากพอสำหรับควบคุมการทำงานของวงจรต่าง ๆ อีกด้วย
ประเภทของวงจรขยายสัญญาณ
ทรานซิสเตอร์ (transistor)
เป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ Semiconductor มีคุณสมบัติควบคุมการไหลของอิเล็กตรอนได้ ทำหน้าที่ขยายสัญญาณไฟฟ้า เปิด/ปิดสัญญาณไฟฟ้า ควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ หรือกล้ำสัญญาณไฟฟ้า (modulate) เป็นต้น การทำงานของทรานซิสเตอร์เปรียบได้กับวาล์วควบคุมสัญญาณไฟฟ้าขาเข้า input ที่มาจากแหล่งจ่ายไฟ แล้วปรับขนาดกระแสไฟฟ้าไปยังขาออก output
ทรานซิสเตอร์ประกอบด้วยวัสดุสารกึ่งตัวนำ Semiconductor ที่มีอย่างน้อยสามขั้วไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับวงจรภายนอก แรงดันหรือกระแสไฟฟ้าที่ป้อนให้กับขั้วทรานซิสเตอร์หนึ่งคู่ จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระแสไฟที่ไหลผ่านในขั้วทรานซิสเตอร์อีกคู่หนึ่ง เนื่องจากพลังงานที่ถูกควบคุมสัญญาณขาออก (output) จะสูงกว่าพลังงานที่ใช้ในการควบคุมสัญญาณขาเข้า (input) คุณสมบัติแบบนี้เรียกว่า gain (สามารถคำนวณได้จากนำสัญญาณขาออก output หารด้วยขาเข้า input ถ้าได้ผลลัพธ์มากกว่า 1 แสดงว่าวงจรนั้นเป็นวงจรขยาย) ทรานซิสเตอร์จึงสามารถขยายสัญญาณได้ดีกว่า หลอดสุญญากาศแบบเก่า ด้วยคุณสมบัตินี้เองทำให้ transistor ได้รับความนิยมและเข้ามาแทนที่ในการผลิตเครื่องเสียง Hi-end ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเรื่องมา อาทิ ทรานซิสเตอร์แบบ Bipolar Junction Transistor (BJT) ทรานซิสเตอร์แบบ field-effect (FET) แบบ metal–oxide–semiconductor field-effect (MOSFET) ในวงการนักเล่นเครื่องเสียงเรียก ทรานซิสเตอร์ อีกชื่อหนึ่งว่า Solid State
หลอดสุญญากาศ (Valve amplifier หรือ Vacuum Tube)
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณหรือเพื่อสร้างสัญญาณทางไฟฟ้าขึ้นจากการควบคุมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนผ่านบริเวณที่มีอากาศ หรือก๊าซเบาบาง เกิดปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ (thermionic emission) คือ เมื่อโลหะถูกทำให้ร้อนจากการป้อนกระแสไฟฟ้าจะทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมาที่ผิวของโลหะ เมื่อทำการป้อนศักย์ไฟฟ้าเพื่อดึงดูดอิเล็กตรอนที่หลุดออกมาอยู่ที่ผิวด้วยขั้วโลหะอีกขั้วหนึ่งที่อยู่ข้าง ๆ จะทำให้เกิดการไหลของกระแสได้ เราเรียกหลอดสุญญากาศที่มีขั้วโลหะเพียงสองขั้วนี้ว่า หลอดไดโอด (Diode) โดยขั้วที่ให้อิเล็กตรอนเรียกว่า คาโธด (Cathode) และขั้วที่รับอิเล็กตรอนเรียกว่า อาโนด (Anode) การไหลของกระแสไฟฟ้าของหลอดไดโอดเป็นแบบไม่เป็นเชิงเส้น (Non-linear current) กล่าวคือ เมื่อป้อนศักย์ไฟฟ้าบวกให้กับขั้วอาโนดและศักย์ไฟฟ้าลบให้กับขั้วคาโธดจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลดังที่ได้อธิบายผ่านมา แต่เมื่อป้อนศักย์ไฟฟ้ากลับทางคือ ป้อนศักย์ไฟฟ้าบวกให้กับคาโธดและป้อนศักย์ไฟฟ้าลบให้กับอาโนด จะทำให้กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลได้ ซึ่งเป็นผลมาจากอิเล็กตรอนถูกผลักด้วยผลของสนามไฟฟ้านั้นเอง ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้จึงทำให้สามารถนำหลอดไดโอดไปใช้เป็นอุปกรณ์เรียงกระแส (rectifier) ได้
หลอด Triode
ต่อมาได้มีการพัฒนาหลอดไดโอด โดยใส่ขั้วโลหะและเส้นใยบาง ๆ ระหว่างขั้วอาโนดและขั้วคาโธด เรียกว่า กริด (Grid/ Control grid) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นส่วนควบคุมปริมาณกระแสให้ไหลมากหรือน้อยตามศักย์ไฟฟ้าที่ป้อนให้กับขั้วกริด อุปกรณ์ที่มีขั้วโลหะ 3 ขั้วนี้เรียกว่า หลอดไตรโอด (Triode) ซึ่งสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณในแอมป์หลอดมาจนถึงปัจจุบัน
หลอด Tretode
ต่อมาได้มีการการพัฒนาเพิ่ม กริด (Grid) เข้าไปอีกหนึ่งชั้นรียกว่า Screen Grid เพื่อช่วยในการกรองกระแสในช่วงความถี่สูง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นแต่ก็อาจจะมี Distortion ที่เกิดจากแรงดันไฟฟ้าต่ำ
หลอด Pentode
เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากหลอดแบบ ทรีโทด (Tretode) จึงได้เพิ่ม กริด (Grid) ขึ้นเป็นชั้นที่สาม หรือที่เรียกว่า Suppressor ทำให้เสียงที่ได้มีความเที่ยงตรงและชัดเจนมากขึ้น
ภาคขยายของแอมป์หลอด
วงจรแบบ Single-ended
หรือ SE ใช้ภาคขยายชุดเดียวทำงานขยายสัญญาณ เป็นวงจรแบบเดี่ยวโดยมากใช้ในการปรับแรงดันของภาคขยาย กระทั่งได้มีการใช้วงจรแบบ Output Stage มาทำให้มีคุณภาพดีขึ้นและเป็นที่นิยมจากนักเล่นประเภท DIY เพราะประกอบได้ง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งให้เสียงแนวหวานเย็นฟังสบายหู
วงจรแบบ Push-pull หรือ PP จะใช้ภาคขยายสองชุดทำงานขยายสัญญาณ สัญญาณจะแยกออกมาครึ่งหนึ่ง โดยสัญญาณบวกจะถูกส่งให้ Tube 1 ตัว วงจรนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อใช้กำลังสูงประกอบและผลที่ได้จะดีอย่างมาก มันทำให้เกิดสัญญาณผิดเพี้ยนต่ำมากในภาคขยาย วงจรนี้โดยปกติจะใช้สัญญาณ Output เป็นสำคัญ วงจรแบบ Push-pull ต้องการวงจรแทรกแซงที่เรียกที่เรียกว่า Phase Splitter
วงจรแบบ Balanced สัญญาณจะไม่อ้างอิงกับกราวนด์ (Ground) แต่จะใช้สัญญาณอื่นแทน มันยังถูกเรียกว่าภาคขยายที่แตกต่างกัน เพราะว่ามันมีความแตกต่างของสัญญาณ 2 ตัว ข้อดีของวงจรนี้คือมันจะทำให้เสียงรบกวนและความผิดเพี้ยนออกไปจากสัญญาณ Output โดยปกติแล้ววงจรนี้จะถูกเรียกใช้ในห้องอัดเสียง หรือไม่ก็สนามกีฬาขนาดใหญ่
วงจรผสม (Hybrid Amplifier)
Hybrid-amp คือการใช้วงจรผสม เช่น ภาค pre เป็นหลอด แล้วในส่วนของ power เป็น ทรานซิสเตอร์ หรือแอมป์เครื่องเดียวสามารถเป็นทั้ง Pre หรือ Power Amplifier ในปัจจุบัน Hybrid-amp ได้พัฒนาการทำงานที่หลากหลายขึ้น อาทิ Hybrid Digital DAC Amplifier (ใช้ชิป DAC แชนแนลคุณภาพสูง ทำงานในโหมดจัดการข้อมูลของแหล่งโปรแกรมดิจิทัล ทำงานร่วมกับภาคขยาย) หรือ Streaming Intergrated Amplifier ข้อดีของ Hybrid-amp คือการใช้งานที่เรียบง่าย ใช้งานได้สะดวกหลากหลายแต่ก็มีจุดด้อย คือเรื่องของกำลังขับ ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ที่ 50 -100 watts และมีการกวนของสัญญาณภายในเครื่องอยู่บ้าง ซึ่งจุดขายของ Hybrid-amp หรือปัจจุบันพัฒนามาเป็น Hybrid Digital DAC Amplifier อยู่ที่ความคุ้มค่าจากการใช้งานที่หลากหลาย สะดวกในการเชื่อมต่อและใช้งาน ง่ายต่อการจัดวาง ดูเรียบง่ายสบาย ๆ ไม่เหมือนการเล่น Pre Amplifier และ Power Amplifier แบบครบสูตรที่ดูอลังการจนดูจริงจังเคร่งเครียด
คุณลักษณะโดยรวม ตามประเภทของวงจรขยายสัญญาณ*
![]() |
ทรานซิสเตอร์ (transistor) หรือ Solid State | แนวเสียง สว่างสดใส มีกำลังขับที่ดี โดดเด่นในเรื่องของการแสดง รายละเอียด (Details) ความหนักเบาของเสียงอย่างฉับพลัน (Dynamic Transient) เหมาะกับ |
![]() |
หลอดสุญญากาศ (Valve amplifier หรือ Vacuum Tube) | แนวเสียง ความกังวาน (Harmonic) ความสะอาดของพื้นเสียง (Purity) ความใส (Transparency) เหมาะกับ |
![]() |
วงจรผสม (Hybrid Amplifier) | แนวเสียง ผสมผสานแนวเสียงของหลอดสุญญากาศและทรานซิสเตอร์ (ขึ้นอยู่กับการออกแบบวงจร) เหมาะกับ |
*หมายเหตุ : ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาวงจรประเภทต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก จนทำให้คุณลักษณะเดิม ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์อาจเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตและสินค้าในแต่ละรุ่น
ทำความเข้าใจกับ Specification
Amplifier Specifications
Channels | 2 (สำหรับการฟังเพลงกับลำโพง stereo 1 คู่) |
Power Transformer | Toroidal (ประเภทของหม้อแปลงไฟฟ้า) |
Balance / Bass / Treble / | yes (การปรังแต่งโทนเสียงทั้งสามย่าน) |
Source Direct | yes (ไม่ปรับแต่งสัญญาณ) |
Power Amp direct | yes (ทำงานในโหมด Power Amp.) |
Standby Mode | yes |
Inputs/Outputs | |
Audio Inputs | 6 |
Audio Outputs | 1 |
Phono Input | MM (ช่องต่อเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ MM) |
Pre-out | 1 (ทำงานในโหมด Pre Amp.) |
Power Amp Direct IN | yes |
Gold Plated Cinch | yes |
Speaker Terminal | SPKT-100 |
Number of terminals | 4 (จำนวนช่องต่อสายลำโพง 4 ช่องสามารถต่อลำโพงแบบ Bi-wire ได้) |
Headphone Out | yes (ช่องต่อหูฟัง) |
Speaker A / B | yes (ต่อลำโพงได้ 2 ชุด หรือ ต่อลำโพงแบบ Bi-wire ได้) |
General | |
Power Output (8 / 4 Ohm RMS) | 70 W / 100 W (กำลังขับของลำโพง ที่ 8 / 4 Ohm มีหน่วยเป็น RMS) |
Frequency Response | 5 Hz-100 kHz (การตอบสนองคลื่นความถี่) |
Total Harmonic Distortion | 0.02 % (ค่าความเพี้ยนของสัญญาณต่ำมาก ยิ่งน้อยยิ่งดี) |
Damping Factor | 100 (ค่ากำลังสำรอง 100 = มีกำลังสำรองหนึ่งเท่าตัว ตัวเลขกำลังสำรองยิ่งมาก กำลังขับลำโพงก็ยิ่งดี) |
Power Consumption in W | 220 W |
Standby Consumption in W | 0.2 W |
Auto power off | yes |
Detachable Power Cable | yes |
Remote Control | RC002PMSA |
System Remote Function | yes |
บทความ โดย A.Raphael update 17/04/2020
|