Audiophile 101:Speaker
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่านส่วนใหญ่หันมาเล่นเครื่องเสียงเพราะรักในเสียงเพลง บวกกับหลงใหลในรูปลักษณ์ของเครื่องเสียง ลำโพงที่สวยบาดตา และอยากมีกิจกรรมที่ให้ความเพลิดเพลินยามที่ต้องอยู่บ้าน แต่เชื่อไหมครับว่า กลับมีนักเล่นเครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยรู้สึกไม่ปลื้มกับเครื่องเสียงชุดแรกของตัวเอง ในวงการนักเล่นเครื่องเสียงเรียกว่า "mismatch" คือการจัดชุดเครื่องเสียงแล้วได้เสียงไม่ถูกใจ ฟังดูแล้วอาจจะแปลกสักหน่อยว่าตอนซื้อไม่ได้ลองฟังก่อนหรอกหรือ ซึ่งในจุดนี้มีหลายปัจจัยครับ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในการฟัง คุณภาพเพลงที่ฟัง หรืออาจหลงคารมพนักงานขาย หรือแม้แต่ซื้อเพราะว่ามันเป็นรุ่นที่ได้รางวัลมา เป็นรุ่นที่คนนิยมชมชอบ หรือแรงเชียร์จากเพื่อน ๆ แต่เมื่อนำกลับมาต่อชุดเข้ากับเครื่องเสียงที่มีอยู่พอกลับฟังไปสักพักกับรู้สึกไม่ปลื้มก็มีอยู่ไม่น้อย สำหรับคนที่กำลังมองหาเครื่องเสียงชุดแรก บทความ “แกะกล่อง Hi-end” จะช่วยให้ผู้ที่เริ่มต้นสามารถเลือกชุดเครื่องเสียงได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีความสุขกับเครื่องเสียงชุดแรกและเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงหน้าใหม่
เริ่มเล่น สนุกเลือก
เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดของการเล่น ทุกอย่างดูน่าสนใจละลานตาไปซะหมด มีคำถามมากมายในหัวที่ต้องการคำตอบ ความรู้สึกเหมือนตอนเป็นวัยรุ่นนั่นแหละครับ แต่การเลือกเครื่องเสียงให้ถูกใจ มันไม่ได้ใช้ความรู้สึกหรือจินตนาการนะครับ ว่าลำโพงสวย ๆ คู่นั้นจะให้เสียงที่ถูกใจเสมอไป แต่ทว่ามันมีหลักเกณฑ์อยู่พอสมควรเลยทีเดียว
เริ่มจากอะไรก่อนดี
ก่อนที่จะวาดภาพว่าจะมีเครื่องเสียงตัวนั้น ลำโพงรุ่นนี้มาอยู่ในห้อง ผมอยากให้เริ่มต้นจากการค้นหาความชอบของตนเองก่อน คุณชอบดนตรีแนวไหน ชอบฟังเสียงแบบไหน เรียกได้ว่าเป็นช่วงของการ “ค้นหาความชอบและความเป็นตัวเอง” เนื่องจากว่าเครื่องเสียงแต่ละรุ่นนั้นต่างมีก็บุคลิกน้ำเสียงแตกต่างกันออกไป และเหมาะกับดนตรีแต่ละแนว ไม่ใช่ว่าจะให้เสียงเหมือนกันซะหมด แล้วจะเลือกอะไรก่อนดีระหว่าง แอมป์ ลำโพง เครื่องเล่น CD หรือ Network player สำหรับ file hi-res หรือจะย้อนยุคไปเล่น Turntable ดี ดูช่างมีตัวเลือกเยอะไปหมดจนเริ่มต้นไม่ถูก
ควรเลือกลำโพงก่อน (passive speaker)
เนื่องจากลำโพงนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์ปลายทางที่มีอิทธิพลกับเสียงมากที่สุด ลำโพงทำให้เกิดเสียงโดยการสร้างแรงสั่นสะเทือนจากสัญญาณกระแสไฟฟ้าจากเครื่องขยายเสียง สร้างระลอกคลื่นความถี่เสียงต่างๆผ่านมวลอากาศผ่านประสาทหูของเราได้ยินเป็นเสียงต่าง ๆ ลำโพงสามารถแบ่งตามลักษณะเสียงอย่างกว้าง ๆ ได้ดังนี้
Bright tone สว่างสดใส มีรายละเอียด
ลำโพงที่ให้เสียงชัดเจน เปิดเผยรายละเอียด ไม่มีม่านหมอกมาปกคลุม มักนำเสนอความใสจนสัมผัสถึง ตำแหน่งของดนตรี (Position) และ ตัวตนของเสียง (Image) ได้ดี สามารถปรับตำแหน่ง (Set up) ให้เกิดมิติเสียงเชิงมายาของรูปวง* (2) ขึ้นมาได้ไม่ยากนัก นอกจากนั้นยังมีจุดเด่นตรงที่ให้เสียงแหลมและการนำเสนอรายละเอียดหยุมหยิมได้ดี ลำโพง Bright tone นั้นเหมาะกับแนวเพลง Jazz, Vocal, Easy listening, Classic ข้อดีคือ ให้เสียงที่สดใส ชัดเจน มีรูปวงเป็นสามมิติ แต่ก็มีข้อเสียคือ ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมของห้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาต่อร่วม อาทิ สายไฟ สายลำโพงและสายสัญญาณต่าง ๆ สำหรับผมถ้าจะให้เปิดลำโพงประเภทนี้ไปทำงานไป มักจะเสียสมาธิ เพราะน้ำเสียงของลำโพงเรียกร้องให้ผมต้องไปนั่งฟังมันอย่างจริงจังนะซิครับ
Dark tone อึมครึมฟังสบายหู
เป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้ฟังสบาย แต่ก็ลดทอนความสว่างสดใสของเสียงลงไปบ้าง เพื่อเกลี่ยเสียงในย่านความถี่สูงให้มีผ่อนคลาย เสียงโดยรวมออกแนวสุภาพ ฟังสบาย กลมกล่อม ไม่เน้นรายละเอียดแบบชัดเจนจนรู้สึกเคร่งเครียดจริงจัง เด่นตรงย่านเสียงกลาง ที่ฟังแล้วอบอุ่น เสียงแหลม มีเนื้อเสียงไม่แห้งบาง ส่วนเสียงเบสนั้นมักจะเป็นเบสแบบติดนุ่ม ๆ เสียงทั้งสามย่านความถี่ถูกลบเหลี่ยมมุมจนกลมกลึง ข้อดีของลำโพงแนวนี้คือ ฟังได้นานทั้งวัน ไม่ล้าหูเพราะไม่ค่อยเรียกร้องความสนใจมากนัก แต่ก็อาจจะรู้สึกว่าน่าเบื่อในบางครั้ง เพราะด้วยความที่มันไม่ค่อยนำเสนอรายละเอียดแบบเจาะลึกสมจริง ทำให้ถ่ายทอดมิติของเวทีเสียงออกมาได้ไม่ชัดเจนมากนัก
ลำโพง Dark tone นั้นเหมาะกับแนวเพลง Vocal, Easy listening, Country, Pop, Blue, Rock, Dance และ Hip hop ข้อดีอาจจะบอกได้ว่ามันเป็นลำโพงที่เหมาะกับอารมณ์ในแบบ Sentimental (อารมณ์อ่อนไหวกินใจ) เป็นลำโพงที่จัดวางได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก เพราะมันไม่ค่อยอ่อนไหวกับสภาพ Acoustic (ห้องฟัง)มากเท่าใดนัก
Studio Monitor ลำโพงอ้างอิงรายงานทุกรายละเอียดจากการบันทึก
เป็นลำโพงที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานในห้องบันทึกเสียง เพื่อรายงานทุกรายละเอียดของการบันทึกเสียง ดังนั้นลำโพง Studio Monitor นั้นจึงมีความเป็นกลางและมีความเที่ยงตรงสูงมาก โดดเด่นในด้านการแจกแจงรายละเอียด ข้อดีของลำโพงประเภทนี้คือ เหมาะสำหรับคนชอบความแปลกใหม่ในการฟังเพลงจากต้นฉบับที่มีคุณภาพสูง เพราะคุณจะได้ยินเสียงในแบบที่ลำโพงประเภทอื่น ๆ ไม่สามารถแจกแจงได้ มันจัดว่าเป็นลำโพงขี้ฟ้องเอาเรื่องทีเดียว และยังเหมาะสำหรับฟังในห้องเล็ก ๆ เนื่องจากมันเป็นลำโพงที่เหมาะกับการฟังแบบ Near Field (ฟังระยะใกล้) ข้อเสียคือเสียงของมันค่อนข้างจะราบเรียบ ไม่มีบุคลิกอะไรที่มีสีสัน จนบางทีคุณอาจจะรู้สึกว่ามันขาดการปรุงแต่งไปบ้าง
ปัจจุบันกระแสการเล่นเพลงจาก File Hi-res * (2) กำลังเป็นที่นิยม และกำลังเข้ามาแทนที่การฟังเพลงจากแผ่น CD SACD และ Vinyl ซึ่งมีความสะดวกในการค้นหาและเล่นเพลงและคุณภาพของเสียงที่มีรายละเอียดมากว่า ในจุดนี้นักเล่นเครื่องเสียง พึงต้องคำนึงด้วยว่าลักษณะเสียงที่ได้จาก File Hi-res นั้นอุดมไปด้วยรายละเอียด มีโทนเสียงสว่างสดใส ชัดเจนมากกว่าการฟังเพลงแบบเดิมๆ ดังนั้นการเลือกลำโพง เครื่องเสียง และอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อกัน ต้องระวังอาการที่เรียกว่า Over Bright คือ เสียงในลักษณะที่คมชัดจนเกินไป ซึ่งนักเล่นต้องอาศัยประสบการณ์ในการฟังเสียงด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อนำมาจัดชุดเครื่องเสียงให้ถี่ถ้วน หากคุณไม่ชอบฟังเสียงแบบคมชัดเจาะลึกทุกรายละเอียดแบบ File Hi-res ก็ต้องประเมินให้ดีว่าจะลดทอนความคมชัดของเสียงจากอุปกรณ์ใด ไม่ว่าจะเป็น แอมป์ สายไฟ สายลำโพง สายสัญญาณ ฯลฯ เพื่อที่จะช่วยทำให้คุณฟังเพลงแล้วสบายหูผ่อนคลายมากขึ้น
นอกจากการแบ่งลำโพงตามลักษณะน้ำเสียงแล้วยังแบ่งตามประเภทของลำโพงอีกด้วย
ลำโพงแบ่งตามลักษณะของตู้ลำโพง
จริง ๆ อยากจะเรียกว่าแบ่งตามขนาดของกรวยลำโพงซะมากกว่า แต่เบื้องต้นขออธิบายแบบพื้นฐานว่า ขนาดของตู้ลำโพงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ลำโพงวางขาตั้ง (Stand mount) หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าลำโพงวางหิ้ง (Bookshelf) กับลำโพงตั้งพื้น (Floor Standing) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลำโพง Tower ความเข้าใจส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าลำโพงวางพื้น (Floor Standing) จะให้เสียงเบสที่ลึกและใหญ่โตกว่า ความจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกรวยลำโพง (Woofer) เพราะเนื่องจากว่าเสียงนั้นเกิดจากการการทำงานของดอกลำโพง การออกแบบและปริมาตรภายในตัวตู้ลำโพง เพียงแต่ส่วนใหญ่ลำโพงแบบวางพื้น (Floor Standing) มักจะมีดอกลำโพงที่มีขนาดใหญ่กว่า และสามารถออกแบบช่องทางเดินภายในลำโพงเพื่อเพิ่มพลังเสียงเบสได้มากกว่า ลำโพงวางขาตั้ง (Stand mount) ซึ่งหลายคนหลงประเด็นในจุดนี้
ขนาดของกรวยลำโพงจะมีผลกับปริมาตรของห้อง นักเล่นเครื่องเสียงควรคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักในการเลือกลำโพง เพราะคลื่นเสียงที่สะท้อนไปมาภายในห้องที่มีขนาดเล็กเกินไป จะกลายเป็นพลังงานส่วนเกินไปหักล้างและรบกวนคลื่นเสียงในย่านอื่น ๆ ทำให้สูญเสียอรรถรสในการฟังเพลงไปอย่างน่าเสียดาย ยกตัวอย่าง หากนำลำโพงตั้งพื้นกรวยลำโพงขนาด 7 นิ้วมาเปิดในห้องเล็กเสียงเบสจะอื้ออึง หรือที่เรียกว่าเบสล้นห้อง นั่นเอง
ลำโพงวางขาตั้ง (Stand mount)
ส่วนใหญ่มีขนาดดอกลำโพงอยู่ที่ 5.5–6.5 นิ้ว ซึ่งเหมาะกับห้องขนาดเล็ก (กว้าง x ยาว x สูง) ปริมาตรของห้องไม่เกิน 42 ลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่ตอบสนองความถี่อยู่ระหว่าง 48Hz-24kHz เพราะขนาดของดอกลำโพงที่เน้นเสียงกลาง และเสียงแหลม โดยมีเสียงเบสช่วงบนพอให้ได้มันส์กับเสียงเบสอยู่บ้าง เหมาะกับเพลงแนว Jazz, Vocal, Easy listening แอมป์ ที่นำมาขับก็ไม่จำเป็นต้องมีกำลังมากมายนัก ถ้าไม่ใช่ลำโพงที่ขับยาก แอมป์ (โซลิดสเตต) * (3) กำลังขับ 30-60 Watts *(4) (5) ก็เพียงพอแล้ว แต่ก็มีลำโพงวางขาตั้งบางยี่ห้อที่มีแนวความคิดในการใช้กรวยลำโพงที่มีขนาดใหญ่ 7-8 นิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถให้เสียงเบสที่ใหญ่และลงได้ลึกเทียบเท่าลำโพงวางตั้งพื้นเลยที่เดียว แต่ก็คงไม่เหมาะสำหรับห้องขนาดเล็กเหมือนลำโพงวางขาตั้งทั้วไป
ลำโพงตั้งพื้น (Floor Standing)
ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักใช้ดอกลำโพงขนาด 5.5-8 นิ้ว ซึ่งเหมาะกับห้องขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ กว้าง x ยาว x สูง) ปริมาตรของห้องตั้งแต่ 52 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่ตอบสนองความถี่อยู่ระหว่าง 30Hz-24kHz แอมป์ *(3) (4) (5) ที่นำมาขับก็ต้องการกำลังขับอย่างน้อย 70 Watts ขึ้นไป ซึ่งตอบสนองการฟังเพลงได้หลากหลายแนวมากขึ้น เพราะขนาดของดอกลำโพงที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ได้เสียงเบสที่ลึกและคุณภาพมากขึ้น
มีนักเล่นจำนวนมากที่หลงลืมไปว่าขนาดของห้องนั้นต้องเหมาะสมกับลำโพงด้วย น่าเสียดายกับงบประมาณที่จ่ายออกไป แต่กลับได้มาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่ตรงกับ "แนวเพลงที่ชอบ ขนาดห้องที่ใช่" น่าจะเป็นวลีที่ควรท่องให้ขึ้นใจเวลาเลือกลำโพงครับ
![]() |
กรวยลำโพงขนาด 5.5-6.5 นิ้ว |
ห้องขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ปริมาตรของห้องไม่เกิน 42 ลูกบาศก์เมตร |
![]() |
กรวยลำโพงขนาด 5.5-6.5 นิ้ว |
ห้องขนาดกลาง ปริมาตรของห้องตั้งแต่ 52-70 ลูกบาศก์เมตร |
![]() |
กรวยลำโพงขนาด 7-8 นิ้ว |
ห้องขนาดใหญ่ ปริมาตรของห้องตั้งแต่ 80 ลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป |
ทำความเข้าใจกับ Specification
MODEL | R7 |
---|---|
DESIGN | Three-way bass reflex (ลำโพง 3 ทางแยก การทำงานของกรวยลำโพงออกจากกัน Woofer/Mid-range/Tweeter ส่วน bass-reflex คือการใช้แรงดันอากาศภายในตัวตู้ลำโพงช่วยเพิ่มเสียงเบสให้ดียิ่งขึ้น) |
DRIVE UNITS |
Tweeter: Uni-Q Driver Array : Bass Driver: |
FREQUENCY RANGE | 33Hz-50kHz (-6dB) |
FREQUENCY RESPONSE | 48Hz-28kHz (±3dB) (การตอบสนองย่านความถี่เสียงต่ำ-เสียงสูง ±3dB คือในระดับความดังที่ได้ยิน) |
SENSITIVITY (2.83V @ 1m) | 88dB (ค่าระดับความดังมักอยู่ระหว่าง 84-92 เมื่อได้รับการป้อนกระแสจากภาคขยาย ตัวเลขมากบ่งบอกว่าเป็นลำโพงที่ขับง่าย) |
CROSSOVER FREQUENCIES | 400Hz, 2.9kHz |
HARMONIC DISTORTION | <0.3% 120Hz-20kHz (90dB, 1m) (ค่าความเพี้ยนเสียงยิ่งน้อยยิ่งดี) |
MAXIMUM OUTPUT | 111dB |
AMPLIFIER REQUIREMENTS | 15-250W (recommended) (กำลังขับของแอมป์ที่เหมาะสม ตัวเลขกำลังขับของแอมป์แต่ละคลาสจะให้กำลังขับไม่เท่ากัน) |
NOMINAL IMPEDANCE | 8Ohms (min.3.2Ohms) (ค่าความต้านทานจะอยู่ระหว่าง 8-4Ohms ค่าOhms น้อยยิ่งต้องการกำลังขับจากลำโพงมาก) |
1.ลำโพงแต่ละคู่จะให้มิติมายาของเสียงที่มีลักษณะรูปวงที่ต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น ทรงครึ่งวงกลม วงรี ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นต้น
2.High-Resolution Audio ให้คุณภาพเสียงที่คมชัดกว่าเสียงที่บันทึกในซีดี (16bit/44.1kHz) คุณภาพเสียงที่เหนือกว่าของ High-Resolution Audio ให้ผู้ฟังได้ค้นพบรายละเอียดและความพิถีพิถันของงานดนตรี แบบเดียวกับที่คุณจะได้ยินในสตูดิโอ มาตรฐานของซีดีทั่วไปอยู่ที่ 16bit/44.1kHz สำหรับ High-Resolution Audio รายละเอียดทางเทคนิคที่มักใช้กันคือ 24bit/96kHz และ 192kHz/24bit จากการแปลงต้นฉบับอนาล็อคเป็นดิจิตอลซึ่งเรียกว่า DSD (Direct Stream Digital) ซึ่งแบ่งนับ bit ที่เพิ่มขึ้นด้วยความเร็วที่ 2.8MHz หรือมากกว่า โดยเรียกว่า DSD 1bit/2.8MHz ประเภทไฟล์/ การถอดรหัสที่ไร้การสูญเสีย High-Resolution Audio สามารถทำงานร่วมกับไฟล์เสียงหลากหลายประเภท
3.แอมป์แต่ละประเภทจะให้กำลังขับไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น แอมป์คลาส A และแอมป์หลอดสุญญากาศ แม้ตัวเลขกำลังขับน้อยแต่ให้กำลังขับได้มากกว่าแอมป์ในคลาสอื่นๆ
4.ลำโพงที่มีความต้านทานต่ำซึ่งมีหน่วยเป็น Ohms โอห์ม เช่น ลำโพงที่มีความต้านทาน 4 Ohms ย่อมต้องการกำลังขับมากกว่า ลำโพงที่มีความต้านทาน 8 Ohms
5.ลำโพงแกนรวมที่มีทั้งกรวยลำโพงขับเสียงแหลมและเสียงกลาง-ต่ำ อยู่รวมกัน ย่อมต้องการกำลังขับมากกว่าลำโพงทั่วไป
บทความ โดย A.Raphael update 10/04/2020 |