Learn2Listen

maxresdefault

Learn2Listen
ฟังอย่างนักเล่นเครื่องเสียง

หัวใจของการเล่นเครื่องเสียงไม่ได้อยู่ที่การมีชุดเครื่องเสียงราคาแพงอย่างที่หลายคนคิด แต่อยู่ที่การฟังอย่างถูกต้องครับ หูและประสาทการรับรู้เสียงที่ธรรมชาติให้มานั้นสำคัญกว่าเครื่องเสียงมากมายนัก ลองคิดดูนะว่ามันจะมีประโยชน์อย่างใดถ้าคุณมีชุดเครื่องเสียงราคาสูงที่กวาดรางวัลมาแล้วทั่วโลก แต่ประสาทการรับรู้เสียงของคุณไม่ปกติ ฟังอย่างไรถึงจะเรียกว่าถูกต้อง ลองมาติดตามอ่านกันดูครับ

เสียงดนตรีคือ คลื่นเสียงที่เกิดจากแรงสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็นการเคาะ ดีด สี ตี เป่า เป็นการสั่นที่มีความแรงและมีความถี่เสียงไม่เท่ากัน สอดประสานเป็นตัวโน้ต จังหวะ ท่วงทำนอง เครื่องเสียงที่ดีจำเป็นต้องถ่ายทอดสัญญาณไฟฟ้าให้ออกมาเป็นเสียงโดยผ่านการขยับตัวของกรวยลำโพง เพื่อจำลองบรรยากาศ และมิติให้ใกล้เคียงกับดนตรีจริงอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นก็คือ “ความเป็นธรรมชาติของดนตรีที่เสมือนจริง” นี่แหละครับคือเหตุผลว่าทำไมเครื่องเสียง Hi-end ถึงมีราคาสูง “เพราะว่ามันเป็น Art” แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือความเป็นธรรมชาติของดนตรีจริง เรื่องนี้ต้องอาศัยประสบการณ์การฟังดนตรีจริงที่ไม่ผ่านเครื่องขยายเสียง ขอย้ำนะครับว่าต้องไม่ผ่านเครื่องขยายเสียงหรือผ่านให้น้อยที่สุด เพราะจะได้ฟังเสียงที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เรื่องนี้นักดนตรีจะได้เปรียบมากที่สุด ครั้งหนึ่งผมเคยไปนั่งฟังวงดุริยางค์ เล่นเพลงคลาสสิค เสียงนั้นเกินจะอธิบายเป็นถ้อยคำได้หมดจด มันช่างมหัศจรรย์อลังการเหลือเกินครับ

ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะให้นักเล่นเครื่องเสียงรู้สึกเครียดหรือไปนั่งจับผิดชุดเครื่องเสียงของตนเอง เพียงแต่ต้องการให้เข้าถึงความจริงและธรรมชาติของเสียงดนตรีเสียก่อน หากรสนิยมการฟังเพลงของท่านมีแนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวก็ไม่ใช้เรื่องผิดแปลกอะไร เฉกเช่นเมื่อศิลปินได้บรรลุสัจธรรมแล้ว การหาหนทางที่เป็นปัจเจกก็นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แปรเปลี่ยนไปตามรสนิยมความชอบส่วนบุคคล หากแต่การที่เราจะตัดสินสิ่งที่ได้ยิน ก็ควรมีมาตรฐานตรงกลางเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้ถูกต้องเสียก่อน

นักเล่นเครื่องเสียงหลายๆ ท่านหลงทางไปนั่งฟังเครื่องอยู่นานนม จนกลายเป็นว่าฟังเครื่องเสียง แต่ไม่ได้ฟังดนตรี นั่นสิ ยังไงกัน ก็เล่นเครื่องเสียงนี่ ในบทความนี้ผมจะแนะนำหลักการพื้นฐานของการฟังเพื่อนำไปเป็นมาตรตราฐานในการฟังเพื่อให้ได้รับอรรถรสและเข้าถึงความเป็นธรรมชาติของดนตรีมากยิ่งขึ้น และนำไปเป็นเกณฑ์ประเมินชุดเครื่องเสียงว่าสามารถถ่ายทอดได้ใกล้เคียงความจริงมากขนาดไหน

ขนาดของเสียง (Timbre)
คือ ขนาดเสียงของเครื่องดนตรีต่างๆ ที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น เสียงที่ได้จากกลองทิมปานี (Timpani) มีขนาดใหญ่กว่าเสียงที่ได้จากกระเดื่องกลองชุด (Kick Drum) เสียงจาก Tenor saxophone ก็มีขนาดใหญ่กว่า Soprano saxophone เป็นต้น เครื่องเสียงจำนวนไม่น้อยไม่สามารถถ่ายทอดขนาดของเสียงที่ถูกต้องได้ การสังเกตขนาดเสียงเครื่องดนตรีนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ในการฟังดนตรีสด ซึ่งจะช่วยให้ทราบได้ว่าเสียงที่เราได้ยินจากเครื่องเสียงอยู่นั้นมีขนาดที่สมจริงมากหรือน้อยอย่างไร ขนาดของเสียงที่สมจริงจะช่วยให้เรารู้สึกได้ถึงความสมจริง ราวกับว่ามีเสียงจากเครื่องดนตรีเหล่านั้นแสดงต่อหน้า

TIMPANI KICK DRUM

ความกังวาน (Harmonic)
คือระยะเวลาการทอดกังวานของเสียงจากเครื่องดนตรีต่าง ๆ เสียงดนตรีจริงนั้นจะมีการทอดกังวานแบบค่อยๆ จางหายไปเหมือนกับควันธูป หรือที่เรียกติดปากกันว่า Roll off หากเคยสังเกตคงทราบดีว่า เสียงหวดกลองจะเก็บตัวเร็วกว่า เสียงดีดกีตาร์ หรือเสียง Bass จาก Guitar ไฟฟ้าจะทอดเสียงสั้นกว่าเสียงจาก Double Bass เป็นต้น เครื่องเสียงที่ดีต้องถ่ายทอดความกังวาน (Harmonic) ได้อย่างเป็นธรรมชาติ คือไม่ได้ราบเรียบแบนเหมือนกระจก เพราะธรรมชาติของคลื่นเสียงนั้นมีลักษณะขึ้นและลงเป็นระลอกความถี่ที่ต่อเนื่อง จะสังเกตได้อย่างชัดเจนเมื่อลองเคาะ Tri –angle จะได้ยินเสียงที่เป็นระลอกดังกังวานขึ้นและค่อย ๆ ทอดเสียงจางหายไป เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายก็มักจะให้ Harmonic ในแบบซ้ำซ้อน ตัวอย่างเช่นการดีดสาย Guitar สายที่ถูกดีดก่อนก็จะสั่นเกิดเป็นคลื่นเสียงแรก ส่วนสายเส้นต่อ ๆ มาก็จะสั่นและเกิดคลื่นเสียงซ้อนทับไล่เรียงกันตามมาเป็นลำดับ

harmonics harmonics delay

Diagram ขยายให้เห็น Micro detail แสดงคำสัมพันธ์ของคลื่นเสียง ที่ทอดกังวานจากการสั่นที่เป็นระลอกและซ้ำซ้อนกัน


ความหนักเบาของเสียง
 (Dynamic Contrast)

ในการบรรเลงดนตรีนั้น เครื่องดนตรีจะให้ความดังแตกต่างกันไป เช่นเสียงกลองจะดังกว่าเสียง Tambourine หรือเสียง Lead Guitar ดังกว่า Bass Guitar เป็นต้น ความหนักเบานี้จะสัมพันธ์กับตำแห่นงของเสียงดนตรีด้วย เสียงจากเครื่องดนตรีที่อยู่ห่างออกไปก็ควรดังน้อยกว่าเครื่องดนตรีที่อยู่ใกล้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ระดับความแรงหรือเบาในการเล่นด้วยเช่นกัน และขึ้นอยู่กับการบันทึกเสียงด้วยเช่นกัน

ความหนักเบาของเสียงอย่างฉับพลัน (Dynamic Transient) 
มีความหมายใกล้เคียงกับ Dynamic Contrast แต่ต่างกันตรงที่เป็นความเปรียบต่างของเสียงที่โหมกระหน่ำดังขึ้นและเบาลงอย่างฉับพลัน เครื่องเสียงที่ดีต้องมีกำลังขับเพียงพอเพื่อไปสร้างแรงสั่นให้กับกรวยลำโพง เพื่อสร้าง Dynamic Transient อย่างฉับพลันของเสียงดนตรี คนที่ชอบฟังดนตรีคลาสสิคคงจะทราบดี ว่าจะมีช่วงเวลาที่นิ่งเงียบแล้วโหมขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือการดีดสายกีตาร์อย่างรุนแรง รวดเร็ว ในการเล่นกีตาร์แนว Flamenco เป็นต้น ดังนั้นแอมป์และลำโพงต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันในการควบคุมจังหวะของเสียงที่สะบัดขึ้นลงที่แม่นยำตรงตามต้นฉบับการบันทึกเสียง


 

หัวเสียง (Note Impact) 
คือเสียงแรกของตัวโน้ต หรือแรงกระทบเสียงของตัวโน้ตนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ Piano ซึ่งเป็นเครื่องเคาะ เช่นเมื่อกดแป้นคีย์เคาะสายก็จะเกิดความดัง ความดังแรกที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าหัวเสียง หัวเสียงแรกที่ดังขึ้นต้องมีขนาดและแรงปะทะที่สมจริง ชัดเจนไม่คลุมเครือ ไม่ค่อยหรือดังกว่าความเป็นจริง เพราะในการบรรเลงเพลง เพลงหนึ่งนั้น จะมีการผ่อนหนักเบาแรงปะทะของโน้ตแต่ละตัวก็จะไม่เท่ากัน สอดประสานกลมกลืนและสร้างอารมณ์ตามท่วงทำนองต่าง ๆ ของดนตรี ซึ่งทำให้เกิดความไพเราะ เปรียบได้กับการลงพู่กันสร้างน้ำหนักอ่อนแก่บนผืนผ้าใบเพื่อให้เกิดความงามนั้นเอง

 

Piano Chords 2

 

ความสมดุลของเสียง (Tonal Balance)

ธรรมชาติของเสียงนั้นประกอบด้วยระดับคลื่นความถี่เสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งได้แก่ เสียงต่ำ (Bass) เสียงกลาง (Midrange) และเสียงสูง (High) ซึ่งมีหน่วยวัดในทางวิทยาศาสตร์เป็น เฮิร์ท (Hertz) ใช้อักษรย่อว่า Hz สำหรับความสามารถในการได้ยินของมนุษย์นั้น อยู่ในช่วงความถี่ 20-20000 Hz หรือเขียนอีกแบบหนึ่งได้ว่า 20Hz-20KHz (1 KHz หรือ 1 kilo Hz = 1,000 Hz) ในบทเพลงๆ หนึ่งนั้น มีการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีหลายชิ้น ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก็เปล่งเสียงออกมาในย่านความถี่ต่างกันเช่น เสียงต่ำมาจาก Double Bass เสียงกลางต่ำถึงกลางสูงมาจากเสียงร้องและเสียงเปียโน เสียงสูงมาจาก เปียโน และไวโอลิน เป็นต้น

fr1

จากภาพประกอบแสดงคลื่นความถี่เสียงตั้งแต่ 20-20,000 Hz จะเห็นระดับของคลื่นความถี่เสียงที่แตกต่างกันของเครื่องดนตรีต่างๆ โดยแบ่งคร่าวๆ ดังนี้ เสียงต่ำ(20-160 Hz) เสียงกลาง(160-2,000 Hz) เสียงสูง(2,000-20,000 Hz) ซึ่งหากจะพิจารณาจากเพลงเพลงหนึ่ง ก็อาจจะแจกแจงได้ดังนี้ เสียงเบสที่ลงได้ลึกต่ำมากที่สุดที่เรียกว่า Deep bass 20-40Hz เสียงต่ำระดับกลางอยู่ในช่วง 40-80Hz ส่วนฐานเสียงเบสที่ฟังดูหนา ๆ นุ่ม ๆ อยู่ที่เสียงต่ำตอนบน (80-160Hz) ความอบอุ่นมีน้ำมีนวลของเสียงส่วนใหญ่มาจากเสียงกลางต่ำ(160-8,000 Hz) ความสว่างสดใสและรายละเอียดต่างๆมาจากเสียงกลางขึ้นไปจนถึงเสียงสูง (8,000-10,000 Hz) ความพลิ้วของหางเสียง รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และการทอดกังวานของเสียงมาจากเสียงสูง (8,000-25,000 Hz) เป็นต้น แต่ในการฟังดนตรีเราคงไม่ได้ใช้เครื่องมือมานั่งวัดค่ากันนะครับ เราใช้หู ความรู้สึก และประสบการณ์ในการฟังเป็นตัวประเมินว่าชุดเครื่องเสียงของเรานั้นได้นำเสนอเสียงทั้ง 3 ย่านออกมาอย่างราบเรียบสม่ำเสมอ เสียงจากตัวโน้ตหนึ่งไปยังอีกตัวโน้ตหนึ่งได้ไหลลื่นกลมกลืน ไม่มีย่านเสียงใดเสียงหนึ่งโด่งล้นหรือหายไปจากความเป็นจริง

ความสะอาดของพื้นเสียง (Purity)
นักเล่นเครื่องเสียงหลายท่านอาจใช้คำว่าความสงัด ซึ่งก็มักจะโดนแซวเล่นๆ ว่าถ้าอย่างนั้นจะฟังเพลงไปทำไม ความหมายที่แท้จริง มันหมายถึงความสะอาดของพื้นเสียงในช่วงเวลาที่ดนตรีหยุดเล่น ช่องว่างระหว่างตัวโน้ตที่อาจจะไม่มีเสียงใด ๆ เลย อย่างเช่น ดนตรีแนว Cool Jazz หรือหากเคยนั่งฟังดนตรีในห้องฟัง และในช่วงเวลาที่เงียบสงัดและเป็นส่วนตัวจะพบว่าความสะอาดของพื้นเสียงนี้ทำให้เรามีสมาธิ และเข้าถึงดนตรีได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วความสะอาดของพื้นเสียงนี้ยังช่วยให้เราได้ยินรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของดนตรีชัดเจนขึ้น และมีความเป็นธรรมชาติมากนั้นเอง ชุดเครื่องเสียงที่ดีต้องสามารถแสดงรายละเอียดในส่วนนี้ได้อย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงก็คือ พลังงานไฟฟ้าที่สะอาดไม่มีสัญญาณใด ๆ มารบกวน ซึ่งมักเป็นสิ่งที่นักเล่นหลาย ๆ ท่านละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

 

modern jazz quartet 01

ความใส (Transparency)
หมายถึง พื้นเสียงมีความใสในลักษณะที่ทำให้สามารถ สัมผัสได้จากการฟัง รับรู้รายละเอียดของเสียงของเครื่องดนตรีที่อยู่ลึกเข้าไปจากระยะใกล้ไปหาระยะไกล โดยที่ไม่มีม่านหมอกหรือความขุ่นมัวใด ๆ มาบดบัง ทำให้สัมผัสถึงรายละเอียดของเสียงจากเครื่องดนตรีทุกชิ้นในลักษณะที่ลดหลั่นกันไป เพียงแค่หลับตาลงก็สามารถมองเห็นตำแหน่งของนักดนตรีที่บรรเลงอยู่ เสียงทุกเสียงไม่ได้ถูกบดบังและครบถ้วนถูกต้องตรงกับการบันทึกเสียงจากห้องอัด

 

11719705 m

 

รายละเอียด (Details)
ในที่นี้หมายถึงรายละเอียดของเสียงที่ถูกบันทึก เครื่องเสียงที่ดีต้องนำเสนอรายละเอียดตามที่ได้ถูกบันทึกมาอย่างครบถ้วน ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดขาดหายไปหรือเบามากจนแทบจะไม่ได้ยิน ชุดเครื่องเสียงที่ดีนั้นต้องสามารถแยกแยะรายละเอียดดังกล่าวของเสียงออกมาได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นรายละเอียดเบื้องลึก แม้แต่ในส่วนที่เป็นรายละเอียดหยุมหยิมหรือ Inner Detail ของเสียง ตัวอย่างเช่น เสียงการเล่น brushes บนกลอง snare และ ฉาบ Hihat สำหรับเพลงที่ถูกบันทึกมาดีเราอาจจะได้ยินเสียงนักร้องชัดเจนมาก จนรู้สึกถึงเสียงที่ออกมาจากกะบังลม มีเกรนของเสียงอยู่ในลำคอ หรือมีเสียงลมผ่านไรฟังออกมาให้ได้ยินราวกับว่ามีนักร้องยืนจีบปากจีบคอร้องอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

 

Best Drum Brushes NP

 

เสียงที่มีตัวตนและตำแหน่งของดนตรี (Image and Position)
หากเคยฟังการเล่นดนตรีสดที่มีความเป็น Acoustic อาทิ ดนตรี Jazz แบบ Trio หรือ Quartet ซึ่งเล่นด้วยเครื่องดนตรีเพียง 3 – 4 ชิ้น ก็น่าจะคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงที่มีมวลมีน้ำหนักมีทรวดทรงและสามารถสัมผัสได้นั้นคือความหมายของคำว่า Image หรือตัวตนของเสียงดนตรีที่จับต้องได้ อาจชัดเจนเข้มข้นหรือบางเบาก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเสียงที่เครื่องดนตรีเหล่านั้นเปล่งออกมา ส่วนคำว่าตำแหน่งของเครื่องดนตรี Position นั้นก็คือ ตัวตนของเสียงนั้น ๆ ที่มีตำแห่นงให้สัมผัสได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตำแหน่งของเสียงดนตรีที่อยู่ในรูปวงขณะที่ถูกบันทึกเสียง ตัวอย่างเช่น เปียโนอยู่ด้านซ้าย กลองชุดอยู่ตรงกลางถอยลึกอยู่ด้านใน เบสกีตาร์อยู่ด้านขวา แซกโซโพน กับนักร้องยืนคู่กันตรงกลางเวทีเป็นต้น ตัวตนและตำแหน่งของดนตรีจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ชุดเครื่องเสียงที่ดีต้องสามารถแสดงรายละเอียดในส่วนนี้ได้อย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดวางลำโพงและสภาพแวดล้อมของห้องด้วย นอกจากนั้นยังต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดปราศจากสัญญาณรบกวน จึงจะสามารถแสดงในรายละเอียดส่วนนี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

2097771 m

 

เวทีเสียงและความเป็น3มิติ (Sound stage)

หมายถึงรูปวงตำแหน่งของเครื่องดนตรีขณะที่บรรเลงอยู่จริง หรือมาจากมิติมายาที่ Sound engineer กำหนดขึ้นให้รู้สึกสมจริง โดยใช้เทคนิคการบันทึกเสียง ความเป็นสามมิติที่สมบูรณ์แบบในอุดมคตินั้น ต้องมีทั้งทางด้านกว้างด้านลึกและด้านสูง ซึ่งความเป็น 3 มิตินี้จะสัมพันธ์กับ Image และ Position

ความกว้างของเวทีเสียง หมายถึง ระยะห่างจากซ้ายสุดของเวทีเสียงไปจนถึงขวาสุดของเวทีเสียง การถ่ายทอดเสียงของชุดเครื่องเสียงต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่า หากเป็นเพลงบรรเลงจากวง Trio นักดนตรีจะยืนเล่นห่างกันประมาณ 1- 2 เมตร เวทีเสียงที่ได้ยินก็ควรมีความสมเหตุสมผลไม่ใช่กว้างแบบวง Orchestra หรือในการฟังเพลง Classic แต่เวทีด้านกว้างกลับกว้างแค่ 4-5 เมตรเท่านั้น แทนที่จะทะลุเลยกำแพงออกไปให้รู้สึกเหมือนว่ากว้างประมาณ 15-20 เมตร เป็นต้น

ความลึกของเวทีเสียง คือ ระยะทางจากแถวแรกของดนตรีที่อยู่ด้านหน้าไล่เรียงลงไปยังด้านหลัง ในกรณีที่เป็นวง Orchestra อาจจะมี 3-4 ระนาบ เครื่องเสียงที่ดีนั้นต้องสามารถนำเสนอความลึกของดนตรีที่บรรเลงอยู่ในระนาบหลัง ๆ ถัดรองๆ ลงไป โดยสร้างมิติลวงให้รู้สึกถึงระยะและตำแห่นงของดนตรีนั้นอยู่ห่างออกไป เสียงที่ได้ยินก็ต้องเบากว่าดนตรีที่อยู่ในแถวแรก

ความสูงของเวทีเสียง คือ ระยะทางของเสียงจากพื้นเวทีไปจนถึงความสูงที่เสียงนั้นมีตัวตนให้สัมผัสได้ อาจจะไปจนสุดเพดานของ Hall หรือสถานที่ในขณะที่บรรเลง เช่น ในกรณีที่เป็นวง Orchestra หากบันทึกเสียงในโบสถ์การบันทึกที่มีคุณภาพสูงจะทำให้เรารู้สึกและรับรู้ได้ถึงความสูงของโบสถ์ หรือ วงดนตรี Jazz เสียงที่ได้ยินนักร้องต้องยืนร้องไม่ใช่นั่งร้องกับพื้นหรือยืนร้องบนเก้าอี้ เสียง Double Bass จะต้องไหลงลงต่ำจากใต้เอวไปจนถึงพื้น เป็นต้น

 

httpexpatinlisbon.com20120617madrid and the fsot

 

บรรยากาศและความเป็นดนตรี (Musical & Acoustics)
เป็นหัวข้อที่สัมผัสและรับรู้ได้ยากพอสมควร เราอาจเคยได้ยินผู้รู้ในวงการพูดถึงให้ได้ยินบ้างเป็นครั้งคราว แล้วจริง ๆ มันคืออะไร? การบอกเล่าผ่านตัวอักษรก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เข้าถึงได้ “บรรยากาศของสถานที่ในขณะบรรเลงดนตรีที่สมจริง” ซึ่งมักจะถูกอธิบายแยกจากกัน ซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูงมาก คำว่าบรรยากาศนั้น หมายถึง บรรยากาศรอบๆ ตัวโน้ต กับบรรยากาศของสภาพแวดล้อม เช่นขนาดของห้องหรือสถานที่ คำว่า บรรยากาศรอบๆ ตัวโน้ต ผมไม่สามารถอธิบายให้สัมผัสได้ว่าเป็นอย่างไรเพียงแต่สามารถแนะนำหนทางให้ท่านไปสัมผัสด้วยตัวเองก็คือ การฟังดนตรีจริงโดยผ่านเครื่องขยายเสียงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เช่น ใน Hall แสดง Concert ของวง Orchestra หรือถ้าไม่ชอบเพลงคลากสิค ผมอยากแนะนำให้ลองหาเวลาว่างช่วงหัวค่ำตาม Lobby หรือ Lounge ในโรงแรม 5 ดาว คุณจะได้ฟังวง Trio หรือ Quartet บรรเลงเพลงให้ฟังแบบใกล้ชิด

บรรยากาศรอบตัวโน้ตที่จะสัมผัสได้นั้น เช่น เมื่อกดแป้นคีย์เปียโน มันจะมีคลื่นความสั่นที่ยังคงทิ้งหางเสียงไว้ หรือมี Harmonic ที่ 2 3 และ 4 ปกคลุมเสียงของตัวโน้ตหลักอยู่ หรือถ้าเมื่อเล่นกีตาร์คลาสสิค การดีดสายหลายเส้นพร้อมกันจะมีการสั่นเป็นระลอกของเสียง Harmonic ที่ 2 3 และ 4 ห่อหุ้มอยู่รอบ ๆ ตัวโน้ตตลอดเวลา

บรรยากาศที่จำลองความเป็นมิติของสถานที่ ในบางครั้งการบันทึกเสียงต้องการนำเสนอบรรยากาศของสถานที่ในขณะที่บันทึกเสียง อาทิ โบสถ์ บาร์เหล้า เป็นต้น เครื่องเสียงที่ดีจะสามารถถ่ายทอดบรรยากาศเหล่านั้นออกมาได้ครบถ้วนตรงตามการบันทึกจากห้องบันทึกเสียง เมื่อฟังก็เสมือนได้เข้าไปอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ

 

Jazzatthepawn

 

ความเป็นดนตรีที่สมจริงนั้น ต้องมีคุณสมบัติตามทุกหัวข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากชุดเครื่องเสียงสามารถถ่ายทอดออกมาได้เสมือนจริงนั้น ก็จะสามารถสร้างอรรถรสในการฟังเสียงดนตรีได้อย่างครบถ้วนสมบรูณ์ อีกทั้งยังสะท้อนทักษะการเล่นเครื่องเสียงของเจ้าของอีกด้วย ทุกอย่างที่ผมได้กล่าวมานั้นคงต้องหาประสบการณ์ฟังด้วยตนเอง ทะเลจริงสวยงามขนาดไหน ถ้าเอาแต่นั่งดูผ่านจอ 4K ก็คงยากที่จะเข้าใจ ต้องไปทะเลจริง ๆ เท่านั้นแล้วจะรู้ว่าบรรยากาศของทะเลเป็นอย่างไร

นอกจากอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ดีแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ สายสัญญาณ และระบบไฟฟ้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการจัดวางและสภาพห้องที่เหมาะสมก็นับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก และสุดท้ายก็คือคุณภาพของการบันทึกของเพลงที่นำมาเล่น การเล่นเครื่องเสียงนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งทำให้เส้นทางของการเล่นเครื่องเสียงนั้นยังทอดไปอีกยาวไกล และมีอะไรให้น่าค้นหาอย่างไม่รู้จบ

 

0121162351

 บทความ โดย A.Raphael

 update 1/04/2020